มาทำความรู้จักกับ Carbon Footprint คืออะไร

ในปัจจุบัน โลกของเรามีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมามากมาย ซึ่งก็มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไปมากด้วยเช่นกัน มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศต่างๆ เป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นเราทุกคนต้องรีบหันมาใส่ใจกับปัญหานี้ โดยบทความนี้จะพูดถึงเรื่องของ Carbon Footprint ที่จะเป็นส่วนช่วยให้เราได้ประเมินว่าสิ่งต่างๆ มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจำนวนเท่าไหร่ เพื่อทำให้เราตระหนักถึงสิ่งที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้ว Carbon Footprint คืออะไร มาทำความรู้จักกันก่อนดีกว่า

carbon footprint คืออะไร

Carbon Footprint คืออะไร

คาร์บอนฟุตพรินท์ (Carbon Footprint : CF) คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาจากพฤติกรรมของมนุษย์เรา การใช้ชีวิตกระจำวันต่าง ๆ การคมนาคม อุตสาหกรรมการผลิตสินค้า ปศุสัตว์ การใช้ไฟฟ้า รวมไปถึงของเสียที่เกิดจากอาหาร ล้วนก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งนั้น

โดย Carbon Footprint จะมาช่วยเป็นแนวทางที่ใช้ประเมินว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้ง 7 ชนิด คือ 1.ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.ก๊าซมีเทน 3.ก๊าซไนตรัสออกไซด์ 4.กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน 5.กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน 6.ก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ 7.ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ ซึ่งก๊าซแต่ละชนิดจะมีผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อนแตกต่างกันไป

โดยการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น มีทั้งทางตรงและทางอ้อม

  • ทางตรง เป็นการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยตรง เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง รวมไปถึงการใช้พลังงานในบ้าน และการใช้รถยนต์
  • ทางอ้อม เป็นการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากผลผลิต หรือผลิตภัณฑ์ที่เราใช้โดยคำนวณรวมทั้งกระบวนการผลิต จนถึงการกำจัดของเสีย ซึ่งก็คือตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (LCA : Life Cycle Assessment)

ซึ่งเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินท์ที่ติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นั้น เป็นการแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบว่าตลอดทุก ๆ กระบวนการของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกในปริมาณเท่าไหร่บ้าง ตั้งแต่ขั้นตอนแรกของกระบวนการ ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจซื้อให้แก่ผู้บริโภค และสร้างความตื่นตัวในกลุ่มผู้บริโภคให้เลือกสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า โดยสามารถเปรียบเทียบได้จากสินค้าชนิดเดียวกันแต่คนละแบรนด์

Carbon Footprint ถูกแนะนำขึ้นครั้งแรกในสหราชอาณาจักร ภายใต้การดูแลของ Carbon Trust โดยคาดหวังว่าการดำเนินโครงการนี้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต การขนส่ง หรือบรรจุภัณฑ์
ในหลาย ๆ ประเทศได้เริ่มมีการทำ Carbon Footprint มาใช้กันแล้ว ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศศ สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น ซึ่งการลงทุนที่เกี่ยวกับการช่วยลดภาวะโลกร้อนนี้จะช่วยสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจได้เป็นอย่างมาก เพราะมันจะแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม การรับรู้ และช่วยให้มีการสื่อสารที่ดีระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคอีกด้วย

carbon footprint เกิดจากอะไรได้บ้าง

Carbon Footprint เกิดจากอะไรได้บ้าง

คาร์บอนฟุตพรินท์ นั้นเกิดได้จากหลายปัจจัย อย่างที่ได้เกริ่นไปช่วงต้นว่าเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ หรือจากอุตสาหกรรมมากมาย เพราะฉะนั้นในส่วนนี้เรามาดูสาเหตุของคาร์บอนฟุตพรินท์ เพื่อจะได้นำไปแก้ปัญหาได้ถูกจุด โดยสาเหตุหลัก ๆ จะมีดังนี้

คาร์บอนฟุตพรินท์ขององค์กร

คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมการดำเนินงานต่าง ๆ ภายในองค์กร เช่น การใช้เชื้อเพลิงภายในองค์กร เป็นต้น

คาร์บอนฟุตพรินท์ของบริการ

คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาในการให้บริการนั้น ๆ โดยจะมาจากทั้งผลิตภัณฑ์และองค์กร เช่น กิจกรรมการพักผ่อนต่าง ๆ เป็นต้น

คาร์บอนฟุตพรินท์ของผลิตภัณฑ์

คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมากตลอดวัฏจักรผลิตภัณฑ์ พูดง่าย ๆ คือ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต การคมนาคมขนส่ง การใช้งานผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการกำจัดของเสียเมื่อหมดอายุการใช้งาน
ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์จะมีเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินท์แสดงข้อมูลก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบว่าตลอดกระบวนการของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาให้ปริมาณเท่าไหร่บ้าง เช่น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

การคำนวณคาร์บอนฟุตพรินท์

การคำนวณคาร์บอนฟุตพรินท์

​​คาร์บอนมีส่วนทำให้อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้นได้ ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาภาวะโลกร้อน และส่งผลกระทบต่อมนุษย์เราอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นการรู้ว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมานั้นมีเท่าไหร่บ้าง จะช่วยทำให้เราตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นตามมา ในส่วนนี้เราเลยจะแนะนำวิธีการคำนวนคาร์บอนฟุตพรินท์ว่าทำอย่างไร

ทางคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ได้กำหนดค่าที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนของแต่ละก๊าซให้เทียบกับศักยภาพการเกิดภาวะโลกร้อนของก๊าซคาร์บอนออกไซด์ 

โดยต้องเข้าใจก่อนว่าก๊าซเรือนกระจกมีหลายชนิด การที่จะสามารถบอกปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ จำเป็นจะต้องนำมาเทียบและแปลงค่าก๊าซทุกตัวให้มีหน่วยเดียวกัน เพราะฉะนั้นการคำนวนปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมานั้นจะใช้หน่วยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ในการคำนวน

ก๊าซมีเทน (CH4) มีค่าที่ทำให้โลกร้อน 28 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) มีค่าทำให้โลกร้อน 256 เท่าของก๊าซคาร์ไดออกไซด์

ดังนั้นหากเราปล่อยก๊าซมีเทน 1 kg หมายความว่า ค่าที่เราปล่อยคาร์บอนฟุตพรินท์ = 28 kgCO2e
และหากเราปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ 1 kg จะหมายความว่าค่าที่เราปล่อยคาร์บอนฟุตพรินท์ = 256 kgCO2e

โดยวิธีการคำนวน Carbon Footprint คือ นำข้อมูลของกิจกรรมที่ทำ (Activity Data) ที่เกิดจากมนุษย์ทั้งหลาย x ค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) ซึ่งเป็นค่าที่ใช้ในการแปลงค่าข้อมูลเบื้องต้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อคิดเป็นค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมนั้น ๆ

ยกตัวอย่างเช่น หากเราใช้ไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์/ชั่วโมง (kWh) โดยค่า Emission factor ของไฟฟ้าคือ 0.4999 kgCO2e
จะหมายความว่า ค่าที่เราปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ไฟฟ้า คือ 1 x 0.4999 = 0.4999 kgCO2e

ซึ่งโดยปกติแล้วกิจกรรมที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซพิษมากที่สุด เช่น

  • การใช้เชื้อเพลงภายในองค์กรหรือภายในบ้านเรือน
  • กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจต่าง ๆ
  • บริการสาธารณะ
  • การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า
  • การคมนาคมขนส่ง
  • การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว
  • โรงงานรถยนต์
  • การเดินทางท่องเที่ยวด้วยเครื่องบิน
  • อาหารและเครื่องดื่ม

แนวทางที่ช่วยลด carbon

แนวทางที่ช่วยลด Carbon

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์เรา จากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันต่าง ๆ มีส่วนในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดพลังงานความร้อนสะสม โดยจะส่งผลให้อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น เป็นสาเหตุทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลาย และทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศต่าง ๆ รวมถึงเศรษฐกิจและสังคม เพราะฉะนั้นหากเราไม่ช่วยกันป้องกัน และลดจำนวน Carbon Footprint อาจจะส่งผลที่รุนแรงในภายหลังก็เป็นได้ ดังนั้น ตอนนี้เรามาดูสิ่งที่เราสามารถเริ่มต้นทำกันได้ง่าย ๆ เพื่อช่วยโลกของเรากันเถอะ

ใช้พลังงานสะอาด

​​การประหยัดพลังงานโดยอาจจะเริ่มจากอะไรง่าย ๆ เช่น เปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือไฟ LED ในขนาดที่พอเหมาะ หรือการถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังใช้งานเสร็จแล้ว เป็นต้น นอกจากนี้การเลือกใช้พลังงานสะอาด อย่างเช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม ก็มีส่วนช่วยลดคาร์บอนได้ และอาจจะถึงเวลาที่ต้องเริ่มใช้พลังงานหมุนเวียนกันอย่างจริงจังแล้ว นอกจากนี้การใช้โซลาเซลล์ก็สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 101 ต้นเลยทีเดียว ซึ่งโซลาเซลล์เป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด ขอแค่มีแสงก็สามารถผลิตไฟฟ้าได้เรื่อย ๆ แถมยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

แนวทางที่ช่วยลดคาร์บอน

ปรับพฤติกรรมการกิน

เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ปรับมากินอาการที่เป็นพืชออแกนิค และกินเนื้อแต่พอดี สัดส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนปศุสัตว์สูงสุดอยู่ที่ 18% และอาจจะสูงขึ้นอีกถึง 51% และต้นเหตุนั้นมาจากกระบวนการในการผลิตเนื้อ โดยเฉพาะการทำไร่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ที่คอยดูดซับก๊าซคาร์บอนก็น้อยลง การหันมากินพืชออแกนิค จะช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีที่ผ่านการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีส่วนทำให้เกิดคาร์บอน นอกจากนี้ การกินอาหารให้หมด จะช่วยลดปริมาณเศษอาหารที่เหลือ ช่วยลดพลังงานที่ใช้ในการย่อยสลายเศษอาหารอีกด้วย

ซื้อของท้องถิ่น สนับสนุนชุมชน

การซื้อของในท้องถิ่น กินของที่มีอยู่ในชุมชน จะช่วยลดพลังงานที่ใช้ในการคมนาคมขนส่ง ที่ต้องขนส่งจากสถานที่ไกล ๆ ซึ่งจะเป็นการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งได้ แถมได้อาหารที่สดใหม่ ปลอดสารพิษ ปลอดสารกันบูด และยังเป็นการไม่สนับสนุนผลผลิตที่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูกอีกด้วย

ลด carbon footprint

ปลูกต้นไม้

การปลูกต้นไม้ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การปลูกต้นไม้ 1 ต้น สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 9-15 kgCO2 ต่อปี และยังช่วยผลิตออกซิเจนอีกด้วย ยิ่งปลูกต้นไม้ก็จะยิ่งช่วยลดวิกฤตโลกร้อนได้มากขึ้น ซึ่งอาจจะเริ่มจากปลูกต้นไม้ในสวนที่บ้าน หรือเสนอโครงการออฟฟิศสีเขียวที่บริษัท เป็นต้น

ลดการใช้ยานพาหนะ

การเผาไหม้เชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ และเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ เพราะฉะนั้นการลดการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว หันมาเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ หรือเลือกปั่นจักรยาน หรือเดินแทนการใช้รถยนต์ เพราะจะช่วยลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากรถยนต์ที่มีมากบนถนน และในอนาคตควรมีการผลักดันให้พัฒนาเทคโนโลยีที่ผลิตก๊าซคาร์บอนต่ำให้เร็วที่สุด

สรุป

Carbon Footprint คือสิ่งที่เอาไว้บอกปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ส่งผลทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวันของเราทุกคน ทั้งการบริโภคอาหาร การใช้ไฟฟ้า น้ำประปา เติมน้ำมัน หรือการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นในทุก ๆ วัน ล้วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งสิ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดอุณหภูมิโลกสูงขึ้น ระบบนิเวศก็จะเปลี่ยนแปลง

ซึ่งหากมีการวางแผน ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตก็จะสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ จากการเลือกบริโภค การปลูกต้นไม้ การคิดก่อนใช้ และพยายามใช้ทรัพยากรทุกอย่างให้คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด เท่านี้ก็สามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยของก๊าซเรือนกระจก หรือ Carbon Footprint ได้เป็นอย่างมากเลยล่ะ นอกจากนี้การใช้พลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์อย่างการใช้โซลาเซลล์ก็สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดีเลยทีเดียว นอกจากจะช่วยลด Carbon Footprint แล้ว โซลาเซลล์จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย แถมสามารถผลิตพลังงานได้เรื่อย ๆ ขอเพียงแค่มีแสงอาทิตย์

Leave a comment



สงวนลิขสิทธิ์ © 2021 บริษัท อินโนเวทีฟ เอ็นเนอร์จี จำกัด