ทำความรู้จัก Carbon neutral กับ Net zero คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร

ด้วยปัญหาทางภูมิอากาศในปัจจุบัน ทั้งอากาศแปรปรวน ฝุ่นควัน มลพิษ หรือมีสภาพอากาศรุนแรงบ่อยครั้ง อันเกิดจากภาวะโลกร้อน ทำให้หลายๆ บริษัท ไม่ว่าจะเป็น Start-up หรือบริษัทใหญ่ ก็หันมาให้ความสนใจในเทรนด์ Carbon neutral กับ Net zero กันมากขึ้น ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มีจุดประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนยังมีข้อสงสัยว่า Carbon neutral กับ Net zero แตกต่างกันอย่างไร แม้ทั้งสองจะมีจุดประสงค์เดียวกัน แต่มีวิธีที่แตกต่างกัน บทความนี้จะพามาทำความเข้าใจกับทั้งสองคำนี้ว่าคืออะไร มีข้อแตกต่าง และวิธีการอย่างไรบ้าง

ทำความรู้จัก Carbon neutral คืออะไร

ทำความรู้จัก Carbon neutral คืออะไร

Carbon neutral หรือ Carbon neutrality คือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน หมายถึง ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับมาโดยผ่านป่า ผืนดิน มหาสมุทร หรือด้วยวิธีการต่าง ๆ 

ทำไมต้องเป็น Carbon neutral

ทำไมต้องเป็น Carbon neutral

อย่างที่ทราบกันดีว่าคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นการที่ธุรกิจต่างๆ หันมาทำ Carbon neutral จะช่วยชะลอการเกิดภาวะโลกร้อนได้ นอกจากนั้น เป้าหมายของการเป็น Carbon neutral คือการลดและชดเชยการปล่อยคาร์บอนจนเป็นกลาง เพื่อไม่ให้คาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจนส่งผลอันตรายต่อโลก ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายๆ รายจึงหันมาทำ Carbon neutral กันมากขึ้น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนและลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น 

    • Apple ได้ประกาศเป็น Carbon neutrality อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2030 พร้อมมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซลง 75% และลงทุนในแหล่งพลังงานสะอาดเพื่อชดเชยส่วนที่เหลืออีก 25% 
    • Starbucks วางแผนเป็น Carbon neutrality ภายในปี 2025 โดยขั้นตอนแรกคือลดการปล่อยก๊าซโดยการลดของเสียและใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และชดเชยโดยการลงทุนในกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ (Forest Carbon Partnership Facility: FCPF)

 

ทำความรู้จัก Net zero คืออะไร

ทำความรู้จัก Net zero คืออะไร

Net zero emissions คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หมายถึง การทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับกลับมามีค่าเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาก่อนหน้า ทำให้เกิดภาวะสมดุล และไม่มีก๊าซเรือนกระจกส่วนเกินที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนหรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้

ทำไมต้องเป็น Net zero

ทำไมต้องเป็น Net zero

เป้าหมายของการเป็น Net zero คือ การลดและกำจัดก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว จะเป็นการหยุดเพิ่มภาระให้กับชั้นบรรยากาศโลก Net zero จึงมีความสำคัญในแง่ที่สามารถทำให้โลกเข้าสู่ภาวะสมดุล หากบริษัทต่างๆ หรือประเทศในโลกสามารถสำเร็จเป้าหมาย Net zero ได้ ก็จะสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และหยุดการเกิดภาวะโลกร้อนได้ บริษัทยักษ์ใหญ่ที่หันมาทำ Net zero เช่น

    • Amazon มุ่งมั่นที่จะเป็น Net zero ภายในปี 2040 โดยการกำจัดการปล่อยมลพิษจากการดำเนินงาน การขนส่ง และการปล่อยมลพิษที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าที่บริษัทซื้อมาเพื่อใช้งาน นอกจากนั้นยังประกาศว่าจะลงทุนในโครงการปลูกป่าทั่วโลกอีกด้วย
    • FedEx วางแผนก้าวไปสู่การเป็น Net zero ภายในปี 2040 โดยขั้นตอนแรกคือลดการปล่อยก๊าซลง 30% ภายในปี 2025 และชดเชยการปล่อยก๊าซที่เหลืออยู่ด้วยคาร์บอนเครดิต

Carbon neutral กับ Net zero ต่างกันยังไง

Carbon neutral กับ Net zero ต่างกันยังไง

Carbon neutral กับ Net zero มีความคล้ายคลึงกันตรงที่เป็นการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน แต่เป้าหมายและวิธีการของทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกัน 

 

โดย Carbon neutral ใช้วิธีการลดการปล่อยคาร์บอน และชดเชยการปล่อยคาร์บอนด้วยวิธีการต่างๆ แต่ Net zero เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และใช้วิธีกำจัดก๊าซเรือนกระจกส่วนเกิน Net zero จึงเป็นการดำเนินงานที่กว้างและทำได้หลากหลายกว่า Carbon neutral เพราะก๊าซเรือนกระจกนั้นไม่ได้มีแค่คาร์บอน แต่รวมไปถึงก๊าซทุกตัวที่ส่งผลต่ออุณหภูมิของโลกด้วย 

 

นอกจากนั้น Net zero จะต้องดูดซับก๊าซเรือนกระจกบนชั้นบรรยากาศในระยะยาว และต้องควบคุมไม่ให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ต้นจนจบห่วงโซ่การผลิตอีกด้วย ทำให้ Net zero มีความท้าทายมากกว่า Carbon neutral และมักจะเป็นเป้าหมายในระดับประเทศมากกว่า 

ทำไมต้องมี Carbon neutral กับ Net zero

ทำไมต้องมี Carbon neutral กับ Net zero

อย่างที่กล่าวไปว่า Carbon neutral กับ Net zero มีจุดประสงค์เดียวกัน คือ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน เป็นการเยียวยาให้โลกกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นจากการประชุมระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อันส่งผลเลวร้ายต่อโลก และเกิดเป็นข้อตกลงการเยียวยาภาวะโลกร้อนที่สำคัญ ดังนี้

Kyoto Protocol

พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เกิดขึ้นจากการประชุม COP ครั้งที่ 3  ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ในปี 1997 โดยสาระสำคัญของพิธีสารเกียวโต คือ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้อยู่ในระดับต่ำกว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 1990 โดยแต่ละประเทศจะต้องส่งข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปี 1990 ให้ทางสหประชาชาติ เพื่อแสดงและเปรียบเทียบให้เห็นการปล่อยก๊าซที่ลดลงในประเทศตัวเอง 

ทั้งนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก ไม่ได้เข้าร่วมในพิธีสารนี้ ทำให้พิธีสารเกียวโตนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเต็มที่ และต่อมาจึงมีความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่เป็นส่วนขยายเพิ่มเติมจากพิธีสารเกียวโต

Paris Agreement

ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เกิดขึ้นจากการประชุม COP ครั้งที่ 21 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2015 เป็นส่วนขยายเพิ่มเติมจากพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในปี 1997 โดยสาระสำคัญของความตกลงปารีส คือ จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2°C เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และก้าวไปสู่เป้าหมายการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5°C ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าร่วมในความตกลงปารีส โดยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี 2030

จุดมุ่งหมาย 1.5°C

1.5°C คือตัวเลขอุณหภูมิโลกที่ต้องควบคุมไว้ไม่ให้เกินไปจากนี้ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์จากหลายประเทศได้คาดการณ์ว่าโลกจะร้อนขึ้นถึง 1.5°C ภายในสองทศวรรษข้างหน้า ถึงแม้ว่าประเทศต่างๆ จะลดการปล่อยก๊าซลงอย่างมากในทันทีก็ตาม หากโลกเข้าสู่อุณหภูมิ 1.5°C จะเกิดผลกระทบร้ายแรงต่อโลก เช่น อากาศร้อนมากขึ้น เกิดภัยแล้งและน้ำท่วม น้ำแข็งอาร์กติกละลาย รวมถึงเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุของสัตว์หลายๆ ชนิดอีกด้วย ทำให้จุดมุ่งหมาย 1.5°C เป็นสิ่งที่เตือนให้ทุกประเทศทั่วโลกตระหนักถึงภาวะโลกร้อน และต้องมีการดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด

ทำไมต้องลดคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจก

ทำไมต้องลดคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจก

ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas) เป็นก๊าซที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ มีความสามารถในการกักเก็บความร้อนจากแสงแดดที่ส่องเข้ามายังโลก โดยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญมีหลายชนิด เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon dioxide, CO2) ก๊าซมีเทน (methane, CH4) ก๊าซไนโตรัสออกไซด์ (nitrous oxide, N2O) และก๊าซฟลูออร์ไรด์ (fluorinated gas) ซึ่งหากมีก๊าซชนิดใดมากเกินไป จะส่งผลให้ชั้นบรรยากาศเสียสมดุล และก่อให้เกิดผลกระทบต่อโลก ดังนี้

    • พลังงานรังสีความร้อนสะสมบนผิวโลกและชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น
    • ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ ทำให้รังสีอันตรายสามารถส่งลงมายังพื้นโลกได้มากขึ้น
    • เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศของโลก เช่น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น อากาศร้อน ฯลฯ

ด้วยผลกระทบเหล่านี้จะทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้ผู้คนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งเสี่ยงต่อภัยน้ำท่วมมากขึ้น เป็นต้น หากไม่เร่งแก้ไขก็จะไม่สามารถควบคุมภาวะโลกร้อนได้ ฉะนั้น การลดคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกด้วยการทำ Carbon neutral กับ Net zero จะส่งผลดีต่อโลกและต่อบริษัทที่ทำได้ดังนี้

    • ประหยัดต้นทุนในการดำเนินงาน เนื่องจากต้องลดการปล่อยคาร์บอน ทำให้ลดการทำงานที่ไม่จำเป็นออกไป และใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพแทน
    • สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัทได้ เนื่องจากปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม บริษัทที่ทำ Carbon neutral กับ Net zero จึงให้ภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
    • ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ เนื่องจากต้องค้นหาและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด จึงสร้างโอกาสในการพัฒนาบริษัทให้มีนวัตกรรมใหม่ได้

เราจะช่วยลดคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร

เราจะช่วยลดคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร

เพื่อไม่ให้โลกต้องรับผลกระทบที่รุนแรงจากภาวะโลกร้อน จึงต้องลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกบรรลุเป้าหมายการทำ Carbon neutral กับ Net zero ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน โดยเราทุกคนสามารถลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกได้ ดังนี้

    • บริโภคอย่างพอดี สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์นั้นคาดการณ์ว่าสูงถึง 51% ซึ่งมีต้นเหตุมาจากกระบวนการผลิตเนื้อที่ปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก รวมไปถึงการทำการเกษตรเพื่อนำมาเป็นอาหารสัตว์ยังทำลายพื้นที่ป่าไม้ที่ช่วยดูดซับคาร์บอน ดังนั้นการบริโภคอย่างพอดีจะสามารถช่วยลดกระบวนการผลิต ลดการทำลายป่า และลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศได้ 
    • ลดการสร้างขยะ และนำขยะมารีไซเคิล กองขยะที่ทับถมกันเป็นจำนวนมาก จะสร้างก๊าซมีเทนที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และเพื่อเป็นการลดขยะให้น้อยลง ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้ เป็นการลดขยะประเภทใช้แล้วทิ้ง อีกทั้งการแยกขยะก่อนทิ้งจะช่วยลดกระบวนการแยกขยะ และนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายยิ่งขึ้น
    • ประหยัดพลังงานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งพลังงานไฟฟ้า พลังงานเชื้อเพลิง ต่างก็เป็นพลังงานสำคัญที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งพลังงานเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการเผาไหม้และก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก หากสามารถลดการใช้พลังงานและใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ โดยสามารถเริ่มต้นง่ายๆ ได้หลายวิธี เช่น ปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน, ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีสัญลักษณ์เบอร์ 5, ใช้พาหนะที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ฯลฯ
    • รักษาและเพิ่มพื้นที่ป่า รักษาป่าที่ยังคงเหลืออยู่ พร้อมกับฟื้นฟูและทดแทนป่าที่เสียไปโดยการปลูกป่าเพิ่มเติม เพื่อให้มีป่าที่สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจก และลดปริมาณการปล่อยก๊าซสู่ชั้นบรรยากาศ
    • เลือกใช้พลังงานทดแทน ใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ทดแทนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนั้นพลังงานทดแทนยังเป็นพลังงานที่ใช้แล้วไม่หมดไป จึงสร้างความยั่งยืนให้กับโลกและประเทศที่ใช้พลังงานทดแทนด้วย การเลือกใช้พลังงานทดแทนจากดวงอาทิตย์สามารถทำได้โดยหันมาใช้โซลาร์เซลล์ นอกจากจะช่วยลดคาร์บอนแล้วยังช่วยลดค่าไฟได้อีกด้วย หากสนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์หรือมีคำถาม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้กับทาง Sorarus ได้เลย

สรุป

Carbon neutral กับ Net zero มีความสำคัญต่อโลกอย่างมาก เพราะมีส่วนช่วยในการลดก๊าซเรือนกระจกอันเป็นต้นเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ โดยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับไปจากการทำ Carbon neutral กับ Net zero นั้น จะปรับสมดุลให้ชั้นบรรยากาศโลกและยับยั้งการเกิดภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อโลกได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทุกคนควรหันมาใส่ใจในเรื่องนี้ ทั้งภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม ไปจนถึงภาคระดับประเทศ หากปล่อยให้โลกเผชิญกับภาวะโลกร้อนและไม่รีบแก้ไข อาจเกินการควบคุมและสายเกินไปที่จะเยียวยาโลกแล้ว

Leave a comment



สงวนลิขสิทธิ์ © 2021 บริษัท อินโนเวทีฟ เอ็นเนอร์จี จำกัด