Net Metering คือ ระบบที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถนำเอาพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) มาใช้ เพื่อเป็นการช่วยลดไฟฟ้า รวมถึงลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้า เพราะในการผลิตไฟฟ้านั้น มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ส่งผลให้เกิดปฏิกริยาเรือนกระจก โลกร้อน และฝนกรดได้ แต่ Net Metering นั้น จะดีจริงหรือเปล่า หรือดียังไง สามารถทำได้อย่างไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบให้คุณ
ระบบ Net Metering คืออะไร
Net Metering คือ ระบบที่นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ ซึ่งก็คือ พลังงานจากแสงอาทิตย์ (solar energy) ที่มาจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดโลกร้อน และปัญหาสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่มาจากการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งเป็นการนำเอาพลังงานสะอาดมาใช้ และช่วยประหยัดค่าไฟจากการนำพลังงานที่เหลือใช้จากผลิตพลังงานเองตามครัวเรือนขายให้กับการไฟฟ้าเพื่อลดหย่อนค่าไฟได้อีกด้วย
Net Metering มีจุดเริ่มต้นจากรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีคริสตศักราช 1979 Steven Strong ได้ทำการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์สองที่ด้วยกัน ก็คือ อพาร์ตเมนต์ Granite Place และ Carlisle House ซึ่งผลปรากฎว่าเขาสามารถผลิตไฟฟ้าได้มาก และพลังงานดังกล่าวจึงถูกส่งกลับไปยังระบบโครงข่ายไฟฟ้า ปัจจุบันก็มีหลายประเทศที่นำเอาระบบ Net Metering มาใช้ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น อินเดีย เลบานอน แม็กซิโก ปานามา โปตุเกส อุรุกวัย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยนั้น มีการใช้ระบบมิเตอร์ไฟฟ้าที่วัดการทำงานด้วยการเหนี่ยวนำไฟฟ้า ใช้วัดปริมาณกระแสไฟฟ้าสลับในครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้ง มีหน่วยวัดพลังงานไฟฟ้าเป็นแบบกิโลวัตต์ชั่วโมง
โดยอัตราค่าไฟฟ้าในไทยจะคิดแบบอัตราก้าวหน้า ซึ่งขึ้นอยู่กับการใช้งาน
หากใช้งานเยอะราคาต่อหน่วยก็จะแพงขึ้น
Net Metering จะแตกต่างกับมิเตอร์ไฟฟ้าที่ประเทศไทยใช้ ที่ยังไม่สามารถคำนวณข้อมูลไฟฟ้าไหลย้อนได้ สำหรับ Net Metering เมื่อไฟฟ้าส่วนเกินผลิตได้ย้อนกลับไปยังกริด มิเตอร์จะย้อนกลับมา และเมื่อเราดึงพลังงานจากกริดมาใช้ มิเตอร์ก็จะเพิ่มขึ้น ผลคือปริมาณไฟฟ้าที่ใช้จากรัฐและค่าไฟฟ้าลดลง
ระบบ Net Metering มีการทำงานยังไง
ระบบ Net Metering จะทำงานได้ก็ต่อเมื่อมีการเชื่อมต่อไฟฟ้าจากบ้านเรือนไปยังระบบโครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งจะมาจากบ้านที่นำเอาโซลาร์เซลล์มาใช้ ในการใช้โซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าอาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง อาทิ วันที่ฝนตก แสงแดดน้อย มีเมฆมาก เวลากลางคืน อาจทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวได้ จึงต้องดึงพลังงานจากกริดมาใช้ แต่ Net Metering เปิดโอกาสให้เราขายไฟฟ้าที่ผลิตเกินไปยังกริดได้ และเราก็จะถูกคิดค่าไฟแค่จำนวนที่ใช้จากกริดไปเท่านั้น
เริ่มทำ Net Metering ยังไง
ทีนี้ก็อาจจะเกิดคำถามที่ตามมาก็คือ แล้วจะเริ่มต้นนำ Net Metering มาใช้ได้อย่างไร สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกเลยก็คือ เราอาศัยอยู่ในบริเวณที่รองรับ Net Metering หรือเปล่า ในไทยยังไม่รองรับการทำ Net Metering เพราะว่ายังมีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ในเรื่องผลกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้า การปรับระบบการทำงานใหม่ เนื่องจากในไทยใช้ระบบมิเตอร์แบบจานหมุน ไม่สามารถจัดเก็บข้อมูลไฟฟ้าย้อนกลับได้เหมือน Net Metering
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ยังสนับสนุนให้ประชาชนได้ผลิตไฟฟ้าใช้เองในครัวเรือน โดยการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา ในโครงการ “โซลารูฟท็อปภาคประชาชน” และนำเอาพลังงานที่เหลือใช้มาขายได้ในอัตรารับซื้อ 2.20 บาท แต่ยังถือว่าระบบนี้ไม่ใช่ระบบ Net Metering แต่คือระบบ Bill Metering เพราะไม่ได้หักลบค่าไฟฟ้ากับหน่วยไฟฟ้านั่นเอง
ข้อดีของ Net Metering
Net Metering เป็นระบบที่ช่วยสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน และยังเป็นระบบที่หลายๆ ประเทศได้มีการนำมาใช้ เพื่อผลประโยชน์ที่ดีต่อโลกและประชาชน ซึ่งข้อดีของ Net Metering มีดังนี้
ช่วยลดค่าไฟฟ้า
สำหรับการใช้ Net Metering นั้น จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก ระบบ Net Metering ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแลกเครดิตพลังงานไฟฟ้าเหลือใช้ที่ผลิตได้เองให้กับภาครัฐ ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนแต่ละเดือนได้อย่างมาก
ช่วยสร้างรายได้
ระบบ Net Metering ไม่สามารถช่วยสร้างรายได้ให้คุณได้ แต่ช่วยเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ และเหลือจากการใช้งานเป็นเครดิต นำไปหักกลบลบกับหน่วยไฟฟ้าที่ดึงจากกริดมาใช้ เพื่อช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าของคุณได้มากเลยทีเดียว
สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน
เมื่อระบบหักลบกลบหน่วยอย่าง Net Metering ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากค่าไฟได้ ยิ่งทำให้ผู้คนหันมาสนใจระบบนี้กันมากขึ้น เพราะยังสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดอย่าง แสงอาทิตย์ หรือลม เข้ามาใช้ผลิตไฟฟ้าได้เองในภาคครัวเรือน รวมถึงภาคอุตสาหกรรม ลดการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงอย่างฟอสซิลที่ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อม
ช่วยลดมลพิษ
ในการผลิตไฟฟ้านั้นต้องใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานฟอสซิลซึ่งเป็นสารอินทรีย์ใต้พื้นโลก ที่เกิดจากการทับถมกันของซากพืช ซากสัตว์จำนวนมากบวกกับความร้อนใต้ผืนโลก กลายเป็นแหล่งสะสมของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) เมื่อฟอสซิลเกิดการเผาไหม้ในกระบวนการต่างๆ จะส่งผลให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่งให้เกิดโลกร้อนและมลพิษในอากาศนั่นเอง
ข้อเสียของ Net Metering
ถึงแม้ว่าระบบ Net Metering จะมีข้อดีอยู่มากมาย แต่ทว่าก็ยังมีข้อเสีย และข้อจำกัดอยู่ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
กระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้า
ในประเทศไทยการนำ Net Metering เข้ามาใช้ถือว่ายังมีข้อจำกัดในเรื่องผลกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้าอยู่ เนื่องจากต้องมีการชดเชยต้นทุนสำหรับการลงทุนให้กับการไฟฟ้าในการขายปลีกไฟฟ้า เพราะการไฟฟ้าจะต้องลงทุนไปกับระบบสายส่งที่ส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างครอบคลุม รวมถึงพื้นที่ห่างไกล โดยให้สามารถใช้ไฟฟ้าในอัตราเดียวกันทั้งประเทศได้ด้วย
ไฟฟ้าไม่คงที่
การใช้พลังงานไฟฟ้าจากการผลิตด้วยแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านอาจมีข้อจำกัดในเรื่องของสภาพอากาศ เนื่องจากการผลิตพลังงานในรูปแบบนี้ ต้องพึ่งพาพลังงานจากแสงแดด หากวันไหนที่ฝนตก อากาศมืดครึ้ม หรือเวลากลางคืน ก็จะทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานสามารถดึงเอาพลังงานจากกริดมาใช้ในระหว่างที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง
บางพื้นที่ไม่สามารถทำได้
Net Metering ไม่สามามารถทำได้ในทุกพื้นที่ อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่า Net Metering จะต้องมีการเชื่อมต่อกับกริดเนื่องจากต้องมีการส่งไฟฟ้าไปยังกริด รวมถึงการดึงมาใช้ในกรณีที่จำเป็นด้วย ทำให้ต้องมีการลงทุนทำสายส่งให้บริการกับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และยังต้องมีการปรับใช้มิเตอร์ที่รองรับ Net Metering อีกด้วย ทำให้ในหลายๆ ประเทศก็ยังไม่รองรับระบบนี้ รวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
สรุป
Net Metering ก็คือ ระบบที่สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าฟ้าใช้เอง ผลิตได้เท่าไร ใช้ไปมากเพียงใด และเหลือไฟฟ้าจากการใช้แค่ไหน ก็สามารถนำไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้งานไปขายเพื่อแลกเครดิต นำมาหักกลบลบหน่วย เพื่อลดภาระค่าไฟได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ว่า หากจะใช้ Net Metering เราจะต้องมั่นใจว่าพื้นที่ของเรานั้นรองรับระบบนี้ด้วย แต่น่าเสียดาย สำหรับในไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของต้นทุน การกระทบกับรายได้ของการไฟฟ้า จึงทำให้ระบบนี้ยังไม่พร้อมใช้งาน