พลังงานสะอาด Clean Energy หนึ่งพลังงานทางเลือกของคนรักษ์โลก

Key Takeaway

  • พลังงานสะอาดเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และสามารถนำมาใช้ได้อย่างไม่มีวันหมด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ
  • การใช้พลังงานสะอาดช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและวิกฤตการณ์โลกร้อน
  • ประเทศไทยมีการพัฒนาการใช้พลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนที่ลดลง นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ และความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น
  • แม้พลังงานสะอาดจะมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ความไม่แน่นอนของแหล่งพลังงาน และต้นทุนเริ่มต้นสูง แต่ก็เป็นทางเลือกสำคัญสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนของโลก

 

พลังงานสะอาดเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติ และระบบนิเวศ ซึ่งปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อทดแทนแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิมที่ใช้แล้วหมดไป เช่น น้ำมัน และถ่านหิน ฯลฯ พลังงานสะอาดจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนของโลกเรา

ทำความรู้จัก พลังงานสะอาด คืออะไร

ทำความรู้จัก พลังงานสะอาด คืออะไร

พลังงานสะอาด (Clean Energy) คือแหล่งพลังงานที่สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษ หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งแตกต่างจากพลังงานที่ใช้แล้วหมดไปอย่างชัดเจน ดังนี้

  • พลังงานสะอาด มาจากแหล่งธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้ เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ และความร้อนใต้พิภพ เป็นต้น สามารถใช้ได้อย่างไม่มีวันหมด เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานที่สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลา
  • พลังงานที่ใช้แล้วหมดไป มาจากซากฟอสซิลที่ต้องใช้เวลานานมากในการเกิดขึ้นใหม่ เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น มีปริมาณจำกัด และจะหมดไปในที่สุด

ซึ่งพลังงานสะอาดจะปล่อยมลพิษน้อยมาก หรือไม่มีเลย และไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก แต่พลังงานที่ใช้แล้วหมดไปจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมลพิษอื่นๆ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

เชื้อเพลิงฟอสซิล กับวิกฤตการณ์โลกร้อน

เชื้อเพลิงฟอสซิล กับวิกฤตการณ์โลกร้อน

เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงานที่เกิดจากการทับถมของซากพืช และสัตว์เป็นเวลาหลายล้านปี ภายใต้ความร้อน และความดันสูง ตัวอย่างเช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 และก๊าซพิษ ส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ พลังงานสะอาดสามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลในปัจจุบันได้ และการพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้พลังงานสะอาดมีประสิทธิภาพ และราคาถูกลง สามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้มากขึ้น ช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และลดการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

 

พลังงานสะอาด พลังทางเลือกที่ขับเคลื่อนอนาคต

พลังงานสะอาด พลังทางเลือกที่ขับเคลื่อนอนาคต

แล้วพลังงานสะอาดมีอะไรบ้าง? พลังงานสะอาดเป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อยในปัจจุบัน แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วมีประเภทไหนบ้าง ซึ่งพลังงานสะอาดมีหลากหลายรูปแบบ แต่ละประเภทก็มีความน่าสนใจ และข้อดีแตกต่างกันไป โดยพลังงานสะอาด ได้แก่

พลังงานแสงอาทิตย์

พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานสะอาดที่ได้จากรังสีของดวงอาทิตย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด และไม่ก่อให้เกิดมลพิษในกระบวนการผลิตพลังงาน ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยการใช้โซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ซึ่งจะแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยพลังงานแสงอาทิตย์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายด้าน เช่น

  • ระบบแสงสว่างภายใน และภายนอกบ้าน
  • ระบบสูบน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค เกษตรกรรม และชลประทาน
  • ระบบแสงสว่างสาธารณะ เช่น ป้ายรถเมล์ ตู้โทรศัพท์ ไฟถนน
  • ระบบประจุแบตเตอรี่สำรองสำหรับใช้ในฉุกเฉิน

Sorarus โซลาร์เซลล์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล พร้อมบริการให้คำปรึกษาเพื่อเลือกระบบที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า Sorarus มีทีมออกแบบมืออาชีพที่สามารถวางแผนการติดตั้งให้เหมาะสมกับพื้นที่ และการใช้งาน นอกจากนี้ ยังมีการรับประกันผลิตภัณฑ์ และบริการหลังการขายที่ครอบคลุม ทำให้ผู้ใช้มั่นใจได้ว่าจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนในพลังงานสะอาด และมีความยั่งยืนในระยะยาว

 

พลังงานน้ำ

พลังงานน้ำเกิดจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ให้ความร้อนแก่น้ำ ทำให้น้ำกลายเป็นไอน้ำลอยตัวสูงขึ้น มวลน้ำที่อยู่สูงขึ้นจากจุดเดิม (พลังงานศักย์) เมื่อมวลไอน้ำกระทบความเย็นก็จะเปลี่ยนเป็นของเหลวอีกครั้ง และตกลงมาเนื่องจากแรงดึงดูดของโลก (พลังงานจลน์) ในปัจจุบัน พลังงานน้ำส่วนมากถูกใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า โดยสามารถแบ่งประเภทของโรงไฟฟ้าพลังน้ำในไทยตามลักษณะการบังคับน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. โรงไฟฟ้าแบบมีน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-of-the-river) 
  2. โรงไฟฟ้าแบบมีอ่างเก็บน้ำ (Storage)
  3. โรงไฟฟ้าแบบผสม (Mixed)

นอกจากนี้ การนำเอาพลังงานน้ำมาใช้ประโยชน์ทำได้ โดยการเปลี่ยนพลังงานจลน์ของน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำให้เป็นกระแสไฟฟ้า อุปกรณ์ที่ใช้คือ กังหันน้ำ (Turbines) น้ำที่มีความเร็วสูงจะผ่านเข้าท่อ แล้วถ่ายทอดพลังงานจลน์เข้าสู่กังหันน้ำ ซึ่งจะไปหมุนขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอีกทอดหนึ่ง

 

พลังงานลม

พลังงานลม

พลังงานลมเป็นพลังงานตามธรรมชาติ ที่เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิ ความกดอากาศ และแรงจากการหมุนของโลก สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความเร็ว และกําลังลม ซึ่งสามารถแปรเป็นพลังงานสะอาดได้อีกรูปแบบหนึ่ง โดยพลังงานลมถูกนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าโดยใช้กังหันลม ซึ่งจะแปลงพลังงานจลน์ของลมให้เป็นพลังงานกลที่ขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 

นอกจากนี้ พลังงานลมถูกนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก โดยมีการติดตั้งฟาร์มกังหันลมในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง เช่น บนภูเขา หรือบนทะเล อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ในการสูบน้ำ ผลิตไฟฟ้าในระบบโครงข่ายไฟฟ้าแยกอิสระ และใช้ในงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีกด้วย

 

พลังงานความร้อนใต้พิภพ

พลังงานความร้อนใต้พิภพเกิดจากความร้อนที่ถูกกักเก็บไว้ภายในโลก ซึ่งมีแหล่งที่มาจาก 2 แหล่ง ได้แก่  ความร้อนที่เหลือจากการก่อตัวของโลกในอดีตกาล และการสลายตัวของสารกัมมันตรังสีภายในแกนโลก 

โดยการนำพลังงานความร้อนใต้พิภพมาใช้ประโยชน์ จะทำได้โดยการเจาะหลุมลึกลงไปในพื้นดินเพื่อสูบน้ำร้อน หรือไอน้ำที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นมา จากนั้นจึงนำไอน้ำไปขับกังหันเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งการนำพลังงานความร้อนใต้พิภพไปใช้ประโยชน์ มีดังนี้

  • ผลิตไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ
  • ใช้ในการทำความร้อนภายในอาคาร และน้ำร้อนที่ใช้ในครัวเรือน
  • ใช้ในกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่ต้องการความร้อน เช่น การทำเกลือ การทำปูนซีเมนต์ การทำกระดาษ เป็นต้น 

พลังงานชีวมวล

พลังงานชีวมวล

พลังงานชีวมวล เป็นพลังงานสะอาดที่ได้จากวัสดุชีวภาพ เช่น ไม้ ฟาง ซังข้าวโพด ขยะอินทรีย์ และมูลสัตว์ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลผลิตจากกระบวนการทางธรรมชาติ อาทิ การเจริญเติบโตของพืช และการย่อยสลายของสิ่งมีชีวิต โดยพลังงานชีวมวลสามารถนำมาใช้ได้หลายวิธี ดังนี้

  • การเผาไหม้โดยตรง เพื่อผลิตความร้อน หรือไอน้ำ
  • การแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงแข็ง เช่น ถ่านอัด หรือเชื้อเพลิงเหลวอย่าง เอทานอล เป็นต้น
  • การหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) ซึ่งสามารถนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า หรือความร้อน

อย่างไรก็ตาม สามารถนำพลังงานชีวมวลไปใช้ประโยชน์ได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และความร้อน อย่างการเผาไหม้ชีวมวลในโรงไฟฟ้า
  • ใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง เช่น การผลิตเอทานอลจากอ้อย มันสำปะหลัง หรือข้าวโพด เป็นต้น
  • ใช้ในกระบวนการทางอุตสาหกรรม เช่น การผลิตความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
  • ใช้ในครัวเรือน เช่น การหุงต้ม การทำความร้อน โดยใช้ฟืน ถ่านไม้ หรือก๊าซชีวภาพ เป็นต้น

ข้อจำกัดของพลังงานสะอาด

การศึกษาข้อจำกัดของพลังงานสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เข้าใจ และวางแผนการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

  • ความไม่แน่นอนของแหล่งพลังงาน: อย่างเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และลม ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและเวลา ต้องมีระบบกักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพ
  • ต้นทุนเริ่มต้นสูง: การติดตั้งระบบพลังงานสะอาดมักมีค่าใช้จ่ายสูงในระยะแรก แต่ก็จะประหยัดในระยะยาว
  • ใช้พื้นที่เยอะ: อย่างเช่น ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ และลม ต้องการพื้นที่โล่งกว้าง อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และการใช้ที่ดิน 

การพัฒนาการใช้พลังงานสะอาดในประเทศไทย

การพัฒนาการใช้พลังงานสะอาดในประเทศไทย

การใช้พลังงานสะอาดในประเทศไทยมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการใช้พลังงานน้ำในการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ต่อมามีการพัฒนาการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และชีวมวล โดยเฉพาะในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลได้ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนผ่านนโยบาย และมาตรการต่างๆ

อย่างไรก็ตามการติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศไทย ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ดังนี้

  • ต้นทุนที่ลดลง: ราคาแผงโซลาร์เซลล์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องลดลงอย่างมาก ทำให้การลงทุนคุ้มค่ามากขึ้น
  • นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ: มีการส่งเสริมผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
  • ความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม: ประชาชนให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น 
  • ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี: ประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้น ทำให้ผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น
  • ความมั่นคงด้านพลังงาน: การผลิตไฟฟ้าใช้เองช่วยลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากภายนอก

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการการขายคืนพลังงานให้กับภาครัฐ ประเทศไทยมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากผู้ผลิตรายย่อย ทำให้ประชาชน และภาคธุรกิจ สามารถลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ และมีรายได้จากการขายไฟฟ้าส่วนเกิน นโยบายนี้เป็นตัวช่วยกระตุ้นการใช้พลังงานสะอาด และสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าอีกด้วย

 

สรุป

พลังงานสะอาด แหล่งพลังงานที่สร้างมลพิษน้อย และใช้ได้อย่างยั่งยืน สามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า ลดการพึ่งพาน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ช่วยลดมลพิษและก๊าซเรือนกระจก 

โฟร์โมสต์
betagen
minor-food-group
singha
centara-grand-hotels-resorts
BJC

สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัท อินโนเวทีฟ เอ็นเนอร์จี จำกัด