โซลาร์เซลล์คือพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ที่มีปริมาณไม่จำกัด หลายบ้านอาจสนใจและอยากที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ แต่ไม่มีพื้นที่เพียงพอ การติดบนหลังคาบ้านก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดี บทความนี้จะพาไปดูว่าการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านมีประโยชน์อย่างไร การติดตั้งโซลาร์เซลล์เหมาะกับหลังคาบ้านแบบไหน
การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน มีประโยชน์อย่างไร
การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านนั้นมีประโยชน์ในหลายด้าน มีประโยชน์ต่อทั้งเจ้าของบ้าน ต่อส่วนรวม และต่อโลก ซึ่งสามารถแจกแจงเป็นรายละเอียดได้ ดังนี้
ประโยชน์ต่อเจ้าของบ้าน
- ช่วยลดค่าไฟในแต่ละเดือนได้ ในกรณีที่ติดตั้งเพื่อใช้ในอาคารของตนเอง
- ช่วยสร้างรายได้พิเศษ ในกรณีที่ขายให้กับการไฟฟ้า ซึ่งจะขายได้ในราคา 6.96 บาทต่อหน่วย ในขนาดที่ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. 2566)
- ช่วยลดความร้อนบนหลังคา เนื่องจากหลังคาบ้านโซลาร์เซลล์ช่วยบังแสงแดดที่ตกกระทบหลังคาได้
ประโยชน์ต่อโลก
- ช่วยลดมลภาวะ ช่วยลดโลกร้อน เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่มีมลพิษ
- ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพราะเป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์
- ช่วยในการรณรงค์โครงการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Cut)
- ช่วยลดการสร้างระบบสายส่งไฟฟ้า ช่วยลดการสูญเสียไฟฟ้าในระบบ
- ช่วยประหยัดงบประมาณในประเทศ ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติ
- ช่วยชะลอการสร้างโรงงานไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิง น้ำ หรือนิวเคลียร์ ช่วยลดความขัดแย้งทางสังคม
หลังคาบ้านแบบไหนเหมาะที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์
ก่อนที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านนั้น ก็มีข้อควรพิจารณาถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมด้วย ดังนี้
วัสดุของหลังคา
ก่อนจะติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาก็ต้องดูที่วัสดุของหลังคาก่อน ซึ่งในความเป็นจริงแผงโซลาร์เซลล์สามารถติดตั้งได้กับวัสดุทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้อง เมทัลชีท ซีเมนต์ โลหะ ไม้ ไวนิล หินชนวน และอื่นๆ แต่เพื่อความปลอดภัยก็ควรตรวจสอบความแข็งแรงของวัสดุ และโครงสร้างของหลังคาก่อน ว่ามีชำรุดหรือเสียหายหรือไม่ สามารถรองรับน้ำหนักได้แค่ไหน โดยทั่วไปหลังคาต้องรองรับน้ำหนักได้ 50 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
อายุของหลังคา
ก่อนที่จะทำหลังคาโซลาร์เซลล์บ้านเรื่องที่จะพลาดไม่ได้เลยคือ ต้องตรวจสอบอายุของหลังคาก่อนเสมอ ว่ามีอายุการใช้งานมานานเท่าไหร่แล้ว โดยให้วิศวกรตรวจสอบว่าหลังคามีสภาพเป็นเช่นไร ต้องทำการเปลี่ยนหรือปรับปรุงก่อนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาหรือไม่ เนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆ และแผงโซลาร์เซลล์จะมีอายุประมาณ 25 ปี หลังการติดตั้ง ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบอายุและสภาพของหลังคาให้ดีก่อนเสมอ
ทิศทางของหลังคา
ทิศทางของหลังคาก็มีความสำคัญต่อการทำหลังคาบ้านโซลาร์เซลล์เช่นกัน เพราะมีผลต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยทิศใต้จะเป็นทิศที่เหมาะสมที่สุดในการติดตั้งในประเทศไทย เพราะจะสามารถรับแสงอาทิตย์ได้เกือบตลอดทั้งวัน แต่ทิศตะวันออกและตะวันตกก็สามารถติดตั้งได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงพอ
ขนาดของหลังคา
ขนาดหลังคาโซลาร์เซลล์บ้านเป็นอีกหนึ่งข้อที่ควรนำมาพิจารณาเช่นกัน ยิ่งหลังคามีขนาดพื้นที่กว้างมากเท่าใด ก็เหมาะสมสำหรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากขึ้นเท่านั้น โดยรูปทรงที่เหมาะสมสำหรับการติดตั้งมากที่สุดจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส เพราะสามารถใช้พื้นที่ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นหลังติดตั้งจะต้องเผื่อพื้นที่ว่างไว้ประมาณ 20% เพื่อไว้สำหรับให้ช่างปีนขึ้นไปทำการบำรุงรักษาและซ่อมแซมในอนาคตอีกด้วย
องศาของหลังคา
องศาของหลังคาก็มีความสำคัญไม่แพ้กันสำหรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน โดยระยะองศาที่เหมาะสมในการติดตั้งจะอยู่ที่มุมเอียงระหว่าง 15-40 องศา แต่ถึงแม้ว่าหลังคาจะมีทรงแบนแต่หากติดตั้งได้ระยะมุมองศาที่เหมาะสม ก็จะทำให้การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีประสิทธิภาพได้เช่นกัน
แสงกระทบ
ข้อสุดท้ายที่ควรพิจารณาสำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์หลังคาบ้านก็คือแสงที่มาตกกระทบนั่นเอง หากมีเงามาบดบังอาจจะทำให้การผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ได้ประสิทธิภาพ เช่น ต้นไม้สูงที่มีขนาดใหญ่ เป็นต้น อาจจะต้องทำการตัดต้นไม้สูงๆ เพื่อไม่ให้เกิดเงาบนแผงโซลาร์เซลล์ และให้แสงอาทิตย์ตกกระทบได้อย่างเต็มที่
แนะนำ 4 แบบหลังคาบ้านที่เหมาะกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์
หลังคาบ้านในประเทศไทยมีมากมายหลากหลายรูปแบบ แต่หลังคาที่เหมาะสมสำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน มีดังนี้
1. หลังคาบ้านทรงแบน (Flat Roof)
หลังคาทรงแบนจะเป็นบ้านแบบสไตล์โมเดิร์น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะทำด้วยซีเมนต์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างบ้าน หรือจะเรียกว่าดาดฟ้าก็ได้เช่นกัน เป็นหลังคาที่มีลักษณะแบบเป็นพื้นราบเดียวกัน ซึ่งเป็นหลังคาที่เหมาะกับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา เพราะช่างสามารถทำงานได้ง่ายและสะดวก รวมทั้งการซ่อมบำรุงอีกด้วย
2. หลังคาบ้านทรงจั่ว (Gable Roof)
หลังคาบ้านที่เหมาะกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์อีกแบบก็คือทรงจั่ว ซึ่งเป็นหลังคาที่มีรูปทรงคล้ายกับสี่เหลี่ยมแต่มีการตัดมุมให้กลายเป็นแปดเหลี่ยม ซึ่งจะทำให้มีความแข็งแรงและพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เพราะรวมส่วนปลายที่สูงขึ้นมาด้วย หลังคาทรงจั่วจึงเหมาะกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา เพราะมีพื้นที่และความแข็งแรงเพียงพอ
3. หลังคาบ้านทรงเพิงแหงน (Lean-to Roof)
หลังคาทรงเพิงแหงนเป็นหลังคาบ้านที่คล้ายกับทรงจั่ว แต่จะแตกต่างกันตรงที่มีส่วนปลายยกขึ้น ซึ่งทำให้หลังคาทนต่อแรงลม และแรงเหวี่ยงได้ดี มีความแข็งแรง ที่สำคัญยังเป็นทรงหลังคาที่รับแสงอาทิตย์ได้ดี จึงเหมาะกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา
4. หลังคาบ้านทรงปั้นหยา (Hip Roof)
สำหรับหลังคาทรงสุดท้ายที่เหมาะกับการทำหลังคาโซลาร์เซลล์บ้านคือทรงปั้นหยา ซึ่งลักษณะโดยรวมจะดูเหมือนกับสี่เหลี่ยม แต่มีส่วนปลายที่ยกสูงขึ้นไปทั้งสองด้าน เลยมีลักษณะคล้ายกับรูปสามเหลี่ยมตั้งโต๊ะ ซึ่งหลังคาทรงปั้นหยาจะเหมาะกับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากกว่าทรงจั่ว เพราะรับแสงอาทิตย์ได้ดีกว่านั่นเอง
สรุป
การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านมีประโยชน์ต่อทั้งตัวเจ้าของบ้านเอง ต่อส่วนรวม และต่อโลก เพราะเป็นการนำพลังงานธรรมชาติที่สะอาดมาใช้ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ไม่สูญเสียเชื้อเพลิง ซึ่งดีต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดโลกร้อน และที่สำคัญยังช่วยประหยัดค่าไฟอีกด้วย ซึ่งการจะติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาก็มีข้อควรพิจารณาหลายด้าน เช่น วัสดุหลังคา อายุ ขนาด ทิศทาง องศา และแสงที่ตกกระทบ ซึ่งมีหลังคาหลายทรงที่เหมาะแก่การติดตั้งโซลาร์เซลล์ ได้แก่ ทรงแบน ทรงจั่ว ทรงเพิงแหงน ทรงปั้นหยา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเจ้าของบ้านก็ควรให้ช่างผู้เชี่ยวชาญหรือวิศวกรมาตรวจสอบโครงสร้างหลังคา ความแข็งแรง และความเหมาะสมก่อนติดตั้ง เพื่อที่จะได้ใช้งานได้อย่างยาวนานและมีประสิทธิภาพ