Power Purchase Agreement การขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าคืออะไร?

ในปัจจุบันอุปกรณ์สร้างพลังงานทดแทนบางประเภทมีราคาที่ถูกลง จนประชาชน คนทั่วไป หรือเอกชนสามารถติดตั้งและผลิตไฟฟ้าใช้งานได้เอง แต่ในบางครั้งไฟฟ้าที่ผลิตออกมาอาจมีมากเกินกว่าที่ใช้ ทำให้การทำข้อตกลง Power Purchase Agreement (PPA) คือ วิธีที่เกิดขึ้น เพื่อจัดการกับพลังงานส่วนเกินนี้ ด้วยการเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถขายไฟให้การไฟฟ้าได้นั่นเอง

ppa คือ

Power Purchase Agreement คืออะไร?

Power Purchase Agreement (PPA) คือ เอกสารสัญญา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้า (Power generator) กับผู้ซื้อพลังงานไฟฟ้า (Power purchaser) โดยในสัญญานี้ระบุข้อกำหนดและเงื่อนไขการจัดซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระหว่างสองฝ่าย รวมถึงราคาซื้อขาย ระยะเวลาของสัญญา การส่งมอบพลังงานไฟฟ้า การรับประกันคุณภาพของพลังงานไฟฟ้า การแก้ไขข้อผิดพลาดและการชดเชย เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เป็นต้น

สัญญา PPA มักถูกใช้ในการสร้างโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานชีวมวล เพื่อให้ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้า สามารถขายพลังงานไฟฟ้าให้กับผู้ซื้อพลังงานไฟฟ้าได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงในการรับรู้กำไรและลดความเสี่ยงในการลงทุนของผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วย

PPA vs Private PPA ต่างกันอย่างไร?

PPA (Power Purchase Agreement) คือ ข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าขึ้นมาใช้เอง เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจที่มีพลังงานหมุนเวียนและสามารถผลิตไฟฟ้าได้ และธุรกิจที่ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในภาคธุรกิจหรือการใช้งานในครัวเรือน

ส่วน Private PPA เป็นข้อตกลงการซื้อขายพลังงานหมุนเวียนระหว่างเอกชนกับเอกชน โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสะอาดหรือบริษัทที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์พร้อมสัญญา เพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้ที่สนใจ โดยไม่ต้องไปติดต่อกับทางภาครัฐเอง

power purchase agreement คือ

PPA ในไทย ครอบคลุมถึงพลังงานแบบไหนบ้าง?

ในปัจจุบันการใช้พลังงานหมุนเวียนมีความสำคัญอย่างมาก ในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในธุรกิจต่างๆ ในไทย การทำ PPA (Power Purchase Agreement) คือวิธีหนึ่งที่ดีในการต่อยอดธุรกิจและช่วยลดการใช้พลังงานที่มาจากแหล่งพลังงานที่เป็นแหล่งหมุนเวียน ดังนั้น PPA ในไทยจึงครอบคลุมถึงพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ได้แก่

  • พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานสะอาดที่มีอยู่มากมายในธรรมชาติ สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าโดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะเป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC) โดยที่โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์และระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำมีอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ รวมไปถึงสถานีพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อสาธิตและศึกษาระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์อีกด้วย
  • พลังงานลม เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิและความกดอากาศ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ทำให้อากาศเคลื่อนที่ และนำพลังงานลมมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า โดยใช้เทคโนโลยีกังหันลม เมื่อลมพัดมาปะทะกับใบพัดของกังหันลม จะทำให้เกิดการเปลี่ยนพลังงานลมเป็นพลังงานกลและนำพลังงานกลนี้ไปใช้งานได้ทันที ระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานลม ในปัจจุบันมีตั้งอยู่หลายที่ในประเทศ เช่น กังหันลมผลิตไฟฟ้าที่แหลมพรหมเทพ ภูเก็ตและกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่อ่างพักน้ำตอนบน โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา นครราชสีมา
  • พลังงานความร้อนใต้พิภพ เกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ทำให้เกิดรอยแตกในชั้นหิน น้ำฝนที่ไหลลงไปใต้ดินจึงได้รับความร้อนจากชั้นหิน สะสมเป็นน้ำร้อนหรือไอน้ำร้อน น้ำร้อนนี้สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ โดยการถ่ายเทความร้อนให้กับของเหลวหรือสารทำงานที่มีจุดเดือดต่ำ จนกระทั่งเป็นไอ แล้วนำไอนี้ไปหมุนกังหันเพื่อผลิตไฟฟ้าต่อไป ปรากฏในรูปของบ่อน้ำร้อน น้ำพุร้อน ไอน้ำร้อน บ่อโคลนเดือดและแก๊ส เป็นต้น
  • พลังงานชีวมวล (Biomass) เก็บเกี่ยวจากเศษซากพืชหรือวัสดุเหลือใช้จากเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น มูลสัตว์ ไม้โตเร็ว ฟางข้าว กาบและกะลามะพร้าว ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยมีวิธีการผลิตเป็น 2 ประเภท คือ การเผาไหม้เชื้อเพลิงชีวมวลโดยตรง (Direct Combustion) และกระบวนการเคมีความร้อนเพื่อสร้างก๊าซชีวภาพ (Thermochemical Conversion) เช่น การหมักกากมันสำปะหลังหรือน้ำเสียจากอุตสาหกรรม เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (Biogas Power Plant)

ข้อดีของการใช้พลังงานสะอาดและข้อตกลง ppa

ข้อดีของการใช้พลังงานสะอาดและข้อตกลง PPA

การใช้พลังงานสะอาดเป็นวิธีการที่เมื่อผนวกเข้ากับข้อตกลง PPA แล้วมีข้อดีอยู่หลายด้าน เช่น 

  • ช่วยชะลอภาวะโลกร้อน การหันมาใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าจะช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน และการใช้เชื้อเพลิงหรือแหล่งพลังงานสิ้นเปลืองให้น้อยลง ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างสุขภาพที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยโดยรอบได้มากขึ้นอีกด้วย
  • ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย การทำสัญญา PPA มีหลักการคิดค่าไฟฟ้าแบบเฉลี่ยคงที่ (Flat Rate) จึงช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ในจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าปริมาณมาก การใช้พลังงานแสงอาทิตย์และการทำข้อตกลง PPA กับภาครัฐให้ชัดเจน ยังช่วยให้มีการกำหนดและลดงบประมาณต่อปีได้มหาศาล โดยการทำ PPA จะช่วยลดความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงของราคาเชื้อเพลิงด้วย
  • นำพลังงานหมุนเวียนเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ การใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า ไม่เพียงช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์แต่ยังช่วยนำพลังงานที่เหลือใช้จากการผลิตธุรกิจหรืออุตสาหกรรมมาใช้ประโยชน์ ซึ่งถ้าไม่นำมาใช้ต้องมีการจ่ายเงินเพิ่มเติมในการจัดการหรือกำจัดพลังงานเหลือใช้ จึงไม่เพียงช่วยลดค่าใช้จ่ายแต่ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจด้วย
  • กระจายอำนาจการผลิตและป้องกันความเสี่ยง การใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า เป็นการกระจายอำนาจการผลิตไฟฟ้าออกไปให้กับบุคคลหรือธุรกิจที่ต้องการใช้ไฟฟ้าด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีภัยพิบัติหรืออุบัติเหตุที่ส่งผลให้ภาครัฐไม่สามารถจัดหาไฟฟ้าได้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนหรือธุรกิจได้

ความสำคัญของข้อตกลง ppa

ทำไมการทำข้อตกลง PPA จึงมีความสำคัญกับผู้ที่ต้องการผลิตไฟฟ้าเอง

เรื่องการผลิตพลังงานไฟฟ้าเองกลายเป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบัน เนื่องจากมีความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นและสภาพแวดล้อมที่ก้าวหน้าขึ้น แต่การผลิตพลังงานไฟฟ้าเองมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ต้นทุนการลงทุนในอุปกรณ์และเทคโนโลยีสูง การบำบัดและจัดการกับขยะอุตสาหกรรม และการจัดหาแหล่งเชื้อเพลิงที่เหมาะสม ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญในการผลิตพลังงานไฟฟ้าเอง

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่ทำให้การทำข้อตกลง PPA (Power Purchase Agreement) คือสิ่งสำคัญที่ผู้ต้องการผลิตไฟฟ้าเองควรพิจารณา เพราะ PPA เป็นสัญญาที่ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าเองทำกับผู้ซื้อพลังงานไฟฟ้า ในที่นี้คือผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อขายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตขึ้น โดยมีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับอัตราการชำระเงินและระยะเวลาของสัญญา ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงและประหยัดต้นทุนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าเองได้

นอกจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าเองที่ได้กล่าวมาแล้ว การทำข้อตกลง PPA ยังช่วยแก้ไขปัญหาอื่นๆ ด้วย อย่างการจัดหาแหล่งเชื้อเพลิงที่เหมาะสม ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าเองอาจไม่มีแหล่งเชื้อเพลิงที่เหมาะสมสำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้า ถ้าผู้ผลิตไม่มีแหล่งเชื้อเพลิงใกล้เคียง แล้วต้องนำเข้าเพื่อใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า การนำเข้าแหล่งเชื้อเพลิงนั้นอาจมีค่าใช้จ่ายสูงและเป็นกังวลเกี่ยวกับการหมดไปของแหล่งเชื้อเพลิงในอนาคต

เนื่องจากการทำข้อตกลง PPA เป็นการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีอัตราการชำระเงินและระยะเวลาของสัญญาที่ถูกกำหนดไว้ การทำข้อตกลง PPA จึงช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนของผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าเอง โดยลดความเสี่ยงในด้านการขาดแรงจูงใจในการผลิตพลังงานไฟฟ้า การเสียเงินจากค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์และเทคโนโลยี

ทำความรู้จัก! Solar PPA ที่หลายคนให้ความสนใจ

Solar PPA หรือ Solar Power Purchase Agreement คือ การเช่าพื้นที่บนหลังคาของเจ้าของสถานที่กับผู้ให้บริการ Solar ซึ่งจะติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา มีหน้าที่ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ เพื่อจำหน่ายไปยังเจ้าของสถานที่ในราคาต่ำ โดย Solar PPA ก็มีข้อดีมากมาย เช่น ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงาน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยป้องกันการเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น อุทกภัยและไฟป่า และช่วยให้ผู้ใช้ได้รับประโยชน์จากการใช้พลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยในปัจจุบันนี้เรามีหลายทางเลือกในการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานน้ำหรือกังหันลม แต่หากเทียบกับพลังงานแสงอาทิตย์ที่มาจาก Solar PPA นั้นมีข้อดีบางอย่างที่ทำให้พลังงานแสงอาทิตย์น่าสนใจมากกว่า เช่น

  • ราคาถูกกว่า พลังงานแสงอาทิตย์มีราคาถูกกว่าพลังงานน้ำหรือกังหันลม ซึ่งทำให้การใช้ Solar PPA เป็นทางเลือกที่คุ้มค่ามากกว่าในการลดค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงาน
  • ติดตั้งง่าย การติดตั้ง Solar PPA ไม่จำเป็นต้องมีการสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่เหมือนกับการใช้พลังงานน้ำหรือกังหันลม ทำให้การติดตั้งง่ายและรวดเร็วขึ้น

จึงไม่แปลกเลยที่ Solar PPA จะเป็นที่สนใจมากกว่าทางเลือกอื่น ๆ

การขายพลังงานไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้า

รวมสิ่งที่ต้องรู้ในการขายพลังงานไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้า

หากมีการติดตั้งโซลาเซลล์หรือผลิตพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้เองจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าลงไปได้ โดยหากยังมีพลังงานเหลือจากการใช้งานยังสามารถนำไปขายได้อีกด้วย โดยผู้ที่สนใจจะขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) ก็ควรจะรู้สิ่งเหล่านี้ไว้ด้วย ได้แก่

  • ราคาที่ PEA รับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจะอยู่ที่ 2.2 บาท/หน่วย (kWh) ระยะเวลา 10 ปี
  • ผู้ยื่นขอขายไฟฟ้าจะเป็นผู้ลงทุนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เองทั้งหมด
  • PEA จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบการเชื่อมต่อระบบ ภายหลังได้รับการพิจารณา ในราคา 2,000 บาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

นอกเหนือจากนั้นแล้ว ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาควรรู้เงื่อนไขต่อไปนี้ด้วย

คุณสมบัติของผู้ที่ต้องการยื่น

ผู้ที่ต้องการยื่นขายไฟให้การไฟฟ้าต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1 บ้านอยู่อาศัยกับ PEA ดูได้จากใบแจ้งค่าไฟฟ้า PEA และตัวเลขแรกคือประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น 1125
  • ยังคงสถานะใช้ไฟฟ้า (ไม่ถูกตัดมิเตอร์)
  • ชื่อผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้าต้องตรงกับชื่อในใบแจ้งค่าไฟฟ้า
  • ที่อยู่บิลค่าไฟฟ้าต้องตรงกับบ้านเลขที่ตามทะเบียนบ้านที่เป็นปัจจุบัน
  • ระดับแรงดันที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 10 kW
  • รูปแบบไฟฟ้าแรงดันต่ำกว่า 400 V

 เตรียมข้อมูล และเอกสาร

การขายไฟให้การไฟฟ้าก็ต้องเตรียมข้อมูล ดังนี้

  • บิลค่าไฟฟ้าหรือหลักฐานการเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน (บิลค่าไฟฟ้าไม่ควรเกิน 3 เดือน) สอดคล้องกับข้อมูลผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการและผู้ใช้ไฟฟ้า 
  • ข้อมูลชื่อ-นามสกุล
  • ข้อมูลเลขที่บ้านที่ติดตั้ง
  • ข้อมูลประเภทใช้ไฟฟ้า

หากข้อมูลดังกล่าวยังไม่ถูกต้องเป็นปัจจุบัน ต้องติดต่อสำนักงานการไฟฟ้าในพื้นที่ใช้ไฟฟ้า ตามที่ปรากฏในบิลค่าไฟฟ้า เพื่อขอแก้ไขข้อมูลให้เสร็จสิ้น ก่อนเข้าร่วมโครงการ

ซึ่งการขายไฟให้การไฟฟ้าก็ต้องตรียมเอกสาร ดังนี้

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประสงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการพร้อมกับรับรองสำเนาถูกต้อง ที่เป็นเจ้าของเครื่องวัดไฟฟ้า
  • สำเนาใบแจ้งค่าไฟฟ้าของบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ หรือหลักฐานแสดงหมายเลขเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า
  • สำเนาแบบ ภ.พ01 หรือ แบบ ภ.พ20 (ถ้ามี)
  • รูปถ่ายบ้านที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ตั้งของที่อยู่อาศัยที่จะติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์
  • แนบบิลค่าไฟฟ้าในรอบเดือนล่าสุดหรือไม่ควรย้อนหลังเกิน 3 เดือน พร้อมทั้งภาพถ่ายมิเตอร์ไฟฟ้า
  • เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่
  • หนังสือมอบอำนาจให้ผู้มายื่นแบบคำขอแทน (ในกรณีที่มอบอำนาจให้ยืนแบบคำขอขายไฟฟ้าแทน)

สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง (ในกรณีที่มอบอำนาจให้ยืนแบบคำขอขายไฟฟ้าแทน)

เตรียมค่าใช้จ่าย

การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ผู้ติดตั้งต้องออกค่าใช้จ่ายเองกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยค่าดำเนินการไม่รวมภาษี อยู่ที่ 2,000 บาท รวมกับภาษี 7.00% มูลค่า 140 บาท เป็นค่าดำเนินการรวมภาษีทั้งหมด 2,140 บาท

ขั้นตอนการขออนุญาต

การขายไฟให้การไฟฟ้ามีขั้นตอน ดังนี้

  1. ลงทะเบียนใช้งาน (Log in) ในระบบ PPIM
  2. กรณีเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเป็นผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเอง ให้เลือกหมายเลข CA ที่ประสงค์จะขอยื่นผลิตไฟฟ้า พร้อมทั้งกรอกรายละเอียดตามแบบคำขอและอัปโหลดเอกสารรายละเอียดตามเอกสารแนบท้ายแบบคำขอขายไฟฟ้า
  3. กรณีเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าไม่ได้เป็นผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเอง  ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจกรอกหมายเลข CA และรายละเอียดตามแบบคำขอขายไฟฟ้า พร้อมทั้งอัปโหลดเอกสารรายละเอียดตามเอกสารแนบท้ายแบบคำขอขายไฟฟ้า
  4. จะมี E-mail แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าทราบ
  5. PEA จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกในระบบ PPIM ภายใน 45 วัน นับจากวันที่ยื่นคำขอขายไฟฟ้า
  6. ผู้ผ่านการคัดเลือกชำระค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าและจัดส่งต้นฉบับแบบคำขอขายไฟฟ้าพร้อมเอกสารประกอบแบบคำขอ รายการเอกสารประกอบการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และสำเนาใบเสร็จค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่การไฟฟ้าเขตพื้นที่รับผิดชอบ ภายใน 30 วับ นับจากวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก หากพ้นกำหนดถือว่าคำขอขายไฟฟ้าเป็นอันยกเลิก
  7. นามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่การไฟฟ้าเขตพื้นที่รับผิดชอบ โดยมีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายใน 270 วัน นับจากวันที่ทำสัญญาฯ
  8. ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากตรวจสอบ ติดตั้งระบบให้เป็นไปตามที่ยื่นไว้ และขอเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าเขตพื้นที่รับผิดชอบ
  9. ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
  10. PEA เข้าตรวจสอบระบบผลิตไฟฟ้า เปลี่ยนมิเตอร์ และทดสอบวันเชื่อมต่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าครั้งแรก (First Synchronization)
  11. ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ไม่เกินวัน SCOD ตามข้อ 7

สรุป

PPA (Power Purchase Agreement) คือ ข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าขึ้นมาใช้เอง นอกจากจะให้ประโยชน์ในด้านการลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังอาจเป็นรายได้เสริมเพิ่มให้กับเอกชนอีกด้วย โดยที่การซื้อขายที่นิยมก็จะอยู่ในรูปของ Solar PPA ที่จะใช้การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าขึ้นมา 

ซึ่งในประเทศไทยเองก็จะมีโครงการที่ประชาชนสามารถขายไฟให้กับการไฟฟ้าผ่านโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งหากใครสนใจการติดตั้งพลังงานทดแทนเหล่านี้ ทาง Sorarus เองเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ดีในการให้คำปรึกษาเพิ่มเติมอย่างครบวงจร ในการประหยัดพลังงาน

Leave a comment



สงวนลิขสิทธิ์ © 2021 บริษัท อินโนเวทีฟ เอ็นเนอร์จี จำกัด