RCCB กับ RCBO คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร แบบไหนดีกว่ากัน

RCCB กับ RCBO คือประเภทของเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ RCD (Residual Current Device) สำหรับตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติภายในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อมีกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านเข้าและออกจะมีค่าไม่เท่ากัน เช่น การรั่วไหลจากเครื่องใช้ไฟฟ้าลงดิน ซึ่งเครื่องตัดไฟฟ้าอัตโนมัติมีชื่อเรียกอีกมากมาย เช่น เครื่องตัดวงจรกระแสเหลือ (RCD, RCBO, RCCB) หรือเครื่องตัดกระแสไฟฟ้ารั่วลงดิน (ELCB, GFCI) ที่นำไปใช้งานร่วมกับเซอร์กิตเบรกเกอร์ประเภทอื่นๆ เช่น เบรกเกอร์ MCCB โดยทั่วไปแล้วระบบ RCD แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ RCCB กับ RCBO ซึ่งบทความนี้ก็จะพาไปดูว่า RCCB กับ RCBO ต่างกันอย่างไร มีหน้าที่อะไร และการใช้งานร่วมกับโซลาร์เซลล์ต้องใช้แบบไหนถึงจะดีกว่ากัน

RCCB กับ RCBO คืออะไร

เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ RCD (Residual Current Device) เป็นอุปกรณ์ป้องกันไฟดูดไฟรั่วทำหน้าที่ในการตรวจสอบกระแสไฟฟ้าภายในตัวบ้าน เพื่อเป็นการป้องกันไฟรั่วไฟดูด โดยจะมีการตัดวงจรอัตโนมัติหากเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วตามค่าที่กำหนด โดยทั่วไปก็จะแนะนำให้ตั้งอยู่ที่ 30 มิลลิแอมป์ เนื่องจากเป็นระดับที่อันตรายถึงแก่ชีวิต โดยเบรกเกอร์กันไฟดูดแบ่งออกมาเป็น 2 ประเภทคือ RCCB กับ RCBO

  • RCCB มีหน้าที่ในการป้องกันไฟดูดไฟรั่ว แต่จะไม่สามารถป้องกันกระแสไฟฟ้าลัดวงจรได้ โดยปกติแล้วก็จะแนะนำให้ติดตั้งควบคู่กับเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker)
  • RCBO ทำหน้าที่เช่นเดียวกันกับ RCCB คือจะตัดวงจรเมื่อเกิดไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้ารั่ว รวมไปถึงมีการป้องกันกระแสไฟฟ้าเกิน และกระแสไฟฟ้าลัดวงจรให้อีกด้วย ซึ่งเปรียบเสมือนกับการนำเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker) กับ RCCB มารวมเข้าด้วยกัน

หลักการทำงานของ RCCB กับ RCBO

หลักการทำงานของ RCCB กับ RCBO

หลักการทำงานของ RCCB กับ RCBO จะมีความแตกต่างกันออกไป โดยสามารถทำความเข้าใจได้ ดังนี้

  • การทำงานของ RCCB คือเป็นอุปกรณ์ควบคุมไฟฟ้ารั่วที่ทำหน้าที่ตัดไฟฟ้าอัตโนมัติ เมื่อมีการตรวจสอบและพบว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่ว โดยจะทำการตรวจจับการไหลของกระแสไฟฟ้า และหากมีการไหลของกระแสไฟฟ้าที่ไม่ปกติเกินค่าที่กำหนดไว้ อุปกรณ์ก็จะทำการตัดการจ่ายไฟฟ้า เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างท่วงที โดยการเลือกใช้ RCCB ควรพิจารณาตามประเภทของวงจรไฟฟ้าที่ต้องการป้องกัน หากเป็นที่พักอาศัยก็ควรเลือกกำหนดค่าอยู่ที่ 30 มิลลิแอมป์ ซึ่งจะช่วยตรวจจับและตัดวงจรไฟฟ้าได้ทันทีเมื่อพบการรั่วไหล ส่วนในสถานที่ที่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือโรงงานอุตสาหกรรม อาจจำเป็นที่จะต้องใช้ RCCB ที่มีค่าที่สูงขึ้น
  • การทำงานของ RCBO คือเป็นอุปกรณ์การป้องกันไฟฟ้าแรงต่ำจากการสัมผัสทางตรงและทางอ้อม ซึ่งมักทำการติดตั้งในกล่องจ่ายไฟฟ้าในครัวเรือนโดยทั่วไป เพื่อรักษาความปลอดภัยของทุกคนที่พักอาศัย โดย RCBO ทำหน้าที่ด้วยกัน 2 อย่าง คือ การป้องกันกระแสการรั่วไหลที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่สัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้า และการป้องกันกระแสไฟฟ้าเกินเมื่อใช้งานเกินพิกัดกระแสของไฟฟ้าในบ้าน อีกทั้งยังช่วยป้องกัน หรือตัดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรได้อีกด้วย

RCCB กับ RCBO ต่างกันอย่างไร

RCCB กับ RCBO ต่างกันอย่างไร

RCD คืออุปกรณ์การป้องกันความเสียหายที่เกิดจากกระแสไฟฟ้ารั่ว โดยมีอุปกรณ์ด้วยกัน 2 ชนิด คือ RCBO VS RCCB ซึ่งเป็นอุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้งานโดยตรง จึงต้องมีสำนักงานมาตรฐานผลิตผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่คอยกำหนดมาตรฐาน เพื่อควบคุมผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานภายในประเทศให้มีคุณภาพ โดยในแต่ละชนิดก็จะมีความแตกต่างกัน ดังนี้

  • RCCB มีมาตรฐานการรับรอง มอก.2425-2560 (Type AC, A) มีมาตรฐาน (IEC) ที่ IEC-EN 61008 โดยมีหน้าที่ในการป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว ซึ่งมีชนิดการป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว คือ Type AC, A, F, B และมีพิกัดกระแสไฟฟ้ารั่วอยู่ที่ 10mA, 30mA, 100mA, 300mA และ 500mA
  • RCBO มีมาตรฐานการรับรอง มอก.909-2548 (Type AC, A) มีมาตรฐาน (IEC) ที่ IEC-EN 61009 โดยมีหน้าที่ในการป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วเกิน และกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งมีชนิดการป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วคือ Type AC, A, F, B และมีพิกัดกระแสไฟฟ้ารั่วอยู่ที่ 30mA, 100mA และ 300mA

ชนิดของ RCCB กับ RCBO

ชนิดของ RCCB กับ RCBO

เนื่องจากในปัจจุบันมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการใช้งานที่หลากหลาย ทำให้กระแสไฟฟ้ารั่วที่เกิดขึ้นมีหลากหลายสาเหตุ และหลากหลายปัจจัยมากขึ้น ดังนั้น ควรรู้ว่าอุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วมีกี่ชนิด และในแต่ละชนิดมีข้อแตกต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะชนิดของ RCCB กับ RCBO ที่แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

  • Typa AC เหมาะสำหรับการใช้ตรวจจับกระแสไฟฟ้ารั่วของระบบไฟฟ้ากระแสสลับ อยู่ที่ 50 Hz ซึ่งเป็นชนิดการใช้งานสำหรับครัวเรือน หรือที่อยู่อาศัยทั่วไป
  • Type A เหมาะสำหรับการตรวจจับกระแสไฟฟ้ารั่วของระบบไฟฟ้ากระแสสลับ อยู่ที่ 50 Hz เหมือนกับ Type AC แต่จะเพิ่มความสามารถในการตรวจจับไฟฟ้ารั่ว ที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นขนาดเล็ก และมีการซ้อนทับกันอยู่บนระบบไฟฟ้ากระแสตรง
  • Type F เหมาะสำหรับการตรวจจับกระแสไฟฟ้ารั่วของระบบไฟฟ้ากระแสสลับที่มีหลายความถี่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับ Type A แต่เพิ่มความสามารถในการตรวจจับไฟรั่วในวงจรที่มีการแปลงความถี่ของไฟฟ้าด้วย
  • Type B เหมาะสำหรับการตรวจจับกระแสไฟฟ้ารั่วของระบบไฟฟ้ากระแสสลับที่มีหลายความถี่ มีความสามารถเหมือนกับ Type F แต่เพิ่มความสามารถที่ใช้ในการตรวจจับไฟรั่วที่ความถี่สูงถึง 1,000 Hz และมีขนาดของกระแสไฟฟ้ารั่ว AC ที่มีการซ้อนทับบนระบบไฟฟ้ากระแสตรง จึงมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้งานกับอินเวอร์เตอร์ของโซลาร์เซลล์ และ EV Charger ต่างๆ 

ประโยชน์ของ RCCB กับ RCBO

RCCB กับ RCBO นอกจากทำหน้าที่ช่วยตัดวงจรไฟฟ้าเมื่อมีกระแสไฟฟ้าเข้าออกที่ไม่เท่ากันแล้ว ยังมีประโยชน์อื่นๆ มากมาย เช่น การป้องกันอันตรายที่มาจากการโดนไฟฟ้าดูด ป้องกันอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นได้จากการที่มีไฟฟ้ารั่วในวงจรไฟฟ้า หรือการรั่วไหลของไฟฟ้าจากเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่ไม่มีระบบป้องกันที่ดี ดังนั้น RCCB กับ RCBO จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีจุดใดภายในบ้าน หรือสำนักงานที่มีกระแสไฟฟ้ารั่ว เพื่อให้สามารถหาสาเหตุ และทำการแก้ไขปัญต่อไปได้อย่างง่ายดายมากขึ้น

การเลือกติดตั้ง RCBO สำหรับระบบโซลาร์เซลล์

การเลือกติดตั้ง RCBO สำหรับระบบโซลาร์เซลล์

การเลือกติดตั้ง RCCB กับ RCBO สำหรับระบบโซลาร์เซลล์ ถือว่าเป็นสิ่งที่วิศวกร หรือผู้ออกแบบระบบไฟฟ้าและระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานโซลาร์เซลล์อาจมีความคุ้นเคย เนื่องจากเป็นมาตรฐานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่กำหนดให้ผู้ที่ทำการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ จะต้องมีการติดตั้งระบบป้องกันการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัยของชีวิต และทรัพย์สินของผู้ใช้งานไฟฟ้า 

การเลือกติดตั้งระบบ RCBO ที่มีไฟฟ้ากระแสพิกัด 125A สำหรับระบบโซลาร์เซลล์ในบ้านเรือน หรือที่พักอาศัยทั่วไป จึงถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสม โดยการติดตั้ง RCBO สำหรับระบบโซลาร์เซลล์สามารถทำได้ ดังนี้

  • เลือกขนาดพิกัดไฟรั่ว (ความไว) ของ RCBO ให้เป็นไปตามระบบที่จะทำการติดตั้งโซลาร์เซลล์โดยต้องคำนึงถึงกระแสรั่วแบบ Capacitive ตามที่ผู้ผลิตอินเวอร์เตอร์แนะนำ
  • จากนั้นให้เลือกชนิดของ RCBO ที่มีความเหมาะสม
  • เลือกพิกัดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร โดย RCBO ที่ใช้สำหรับการป้องกันวงจรย่อยในตู้ประธาน ควรมีพิกัดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรไม่ต่ำกว่า 6kA และหาก RCBO เป็น Main Switch ก็ควรมีพิกัดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรไม่ต่ำกว่า 10kA
  • ตำแหน่งการติดตั้ง RCBO สำหรับโซลาร์เซลล์ แนะนำให้เป็นแบบ Type B โดยจะมีความสามารถเหมือนกับ Type F แต่เพิ่มความสามารถในการตรวจจับไฟรั่วที่มีความถี่สูงถึง 1,000 Hz และมีขนาดของกระแสไฟฟ้ารั่วไหล AC ที่ซ้อนทับกันบนระบบไฟฟ้ากระแสตรงได้ถึง 0.4 เท่าของกระแสไฟฟ้าพิกัดไฟรั่ว จึงมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้กับอินเวอร์เตอร์ของแผงโซลาร์เซลล์
  • หากพบว่าระบบไฟฟ้าเดิมมีเครื่องป้องกันไฟฟ้ารั่วขนาด 30mA อยู่แล้ว ก็ต้องเชื่อมต่ออินเวอร์เตอร์เข้ากับระบบไฟฟ้าของบ้านผ่านเซอร์กิตเบรกเกอร์ธรรมดา เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เครื่องป้องกันไฟฟ้ารั่วทำงานผิดพลาด

สรุป

RCCB กับ RCBO เป็นเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติภายในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อมีค่ากระแสไฟฟ้าไหลผ่านเข้าและออกไม่เท่ากัน โดยจะเป็นอุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว เมื่อเกิดการรั่วของกระแสไฟฟ้าก็จะทำงานตัดวงจรไฟฟ้าทันที ซึ่งมีการอาศัยหลักการทำงานของระบบ Core Balance Transformer และ Tripping Machanism ที่มีความแม่นยำ นอกจากนี้ RCBO ก็ได้มีการออกแบบมาเพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าเกิน กระแสไฟฟ้ารั่ว และกระแสไฟฟ้าลัดวงจร โดยรวมแล้วได้มีการนำเอาคุณสมบัติของ MCB และ RCCB มารวมไว้ในตัวเดียวกัน เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับใครที่กำลังมองหา และต้องการที่จะทำการติดตั้งโซลาร์เซลล์ พร้อมระบบตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ สามารถเลือกใช้บริการของ Sorarus ได้ ซึ่งเรามีบริการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์โดยผู้เชี่ยวชาญ มีบริการให้ปรึกษา ตลอดจนการดูแลแบบครบทุกวงจร

Leave a comment



สงวนลิขสิทธิ์ © 2021 บริษัท อินโนเวทีฟ เอ็นเนอร์จี จำกัด