Sorarus - May Article 3 ( Net Metering )-01-cover

ทำความรู้จักระบบ Net Metering คืออะไร และมีดียังไง

Net Metering คือ ระบบที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถนำเอาพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) มาใช้ เพื่อเป็นการช่วยลดไฟฟ้า รวมถึงลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้า เพราะในการผลิตไฟฟ้านั้น มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ส่งผลให้เกิดปฏิกริยาเรือนกระจก โลกร้อน และฝนกรดได้ แต่ Net Metering นั้น จะดีจริงหรือเปล่า หรือดียังไง สามารถทำได้อย่างไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบให้คุณ 

ระบบ Net Metering คืออะไร

ระบบ Net Metering คืออะไร

Net Metering คือ ระบบที่นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ ซึ่งก็คือ พลังงานจากแสงอาทิตย์ (solar energy) ที่มาจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดโลกร้อน และปัญหาสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่มาจากการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งเป็นการนำเอาพลังงานสะอาดมาใช้ และช่วยประหยัดค่าไฟจากการนำพลังงานที่เหลือใช้จากผลิตพลังงานเองตามครัวเรือนขายให้กับการไฟฟ้าเพื่อลดหย่อนค่าไฟได้อีกด้วย

 

Net Metering มีจุดเริ่มต้นจากรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีคริสตศักราช 1979 Steven Strong ได้ทำการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์สองที่ด้วยกัน ก็คือ อพาร์ตเมนต์ Granite Place และ Carlisle House ซึ่งผลปรากฎว่าเขาสามารถผลิตไฟฟ้าได้มาก และพลังงานดังกล่าวจึงถูกส่งกลับไปยังระบบโครงข่ายไฟฟ้า ปัจจุบันก็มีหลายประเทศที่นำเอาระบบ Net Metering มาใช้ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น อินเดีย เลบานอน แม็กซิโก ปานามา โปตุเกส อุรุกวัย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น 

 

สำหรับประเทศไทยนั้น มีการใช้ระบบมิเตอร์ไฟฟ้าที่วัดการทำงานด้วยการเหนี่ยวนำไฟฟ้า ใช้วัดปริมาณกระแสไฟฟ้าสลับในครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้ง มีหน่วยวัดพลังงานไฟฟ้าเป็นแบบกิโลวัตต์ชั่วโมง

โดยอัตราค่าไฟฟ้าในไทยจะคิดแบบอัตราก้าวหน้า ซึ่งขึ้นอยู่กับการใช้งาน 

หากใช้งานเยอะราคาต่อหน่วยก็จะแพงขึ้น

 

Net Metering จะแตกต่างกับมิเตอร์ไฟฟ้าที่ประเทศไทยใช้ ที่ยังไม่สามารถคำนวณข้อมูลไฟฟ้าไหลย้อนได้ สำหรับ Net Metering เมื่อไฟฟ้าส่วนเกินผลิตได้ย้อนกลับไปยังกริด มิเตอร์จะย้อนกลับมา และเมื่อเราดึงพลังงานจากกริดมาใช้ มิเตอร์ก็จะเพิ่มขึ้น ผลคือปริมาณไฟฟ้าที่ใช้จากรัฐและค่าไฟฟ้าลดลง 

ระบบ Net Metering มีการทำงานยังไง

ระบบ Net Metering มีการทำงานยังไง

ระบบ Net Metering จะทำงานได้ก็ต่อเมื่อมีการเชื่อมต่อไฟฟ้าจากบ้านเรือนไปยังระบบโครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งจะมาจากบ้านที่นำเอาโซลาร์เซลล์มาใช้ ในการใช้โซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าอาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง อาทิ วันที่ฝนตก แสงแดดน้อย มีเมฆมาก เวลากลางคืน อาจทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวได้ จึงต้องดึงพลังงานจากกริดมาใช้ แต่ Net Metering เปิดโอกาสให้เราขายไฟฟ้าที่ผลิตเกินไปยังกริดได้ และเราก็จะถูกคิดค่าไฟแค่จำนวนที่ใช้จากกริดไปเท่านั้น 

เริ่มทำ Net Metering ยังไง

เริ่มทำ Net Metering ยังไง

ทีนี้ก็อาจจะเกิดคำถามที่ตามมาก็คือ แล้วจะเริ่มต้นนำ Net Metering มาใช้ได้อย่างไร สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกเลยก็คือ เราอาศัยอยู่ในบริเวณที่รองรับ Net Metering หรือเปล่า ในไทยยังไม่รองรับการทำ Net Metering เพราะว่ายังมีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ในเรื่องผลกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้า การปรับระบบการทำงานใหม่ เนื่องจากในไทยใช้ระบบมิเตอร์แบบจานหมุน ไม่สามารถจัดเก็บข้อมูลไฟฟ้าย้อนกลับได้เหมือน Net Metering 

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ยังสนับสนุนให้ประชาชนได้ผลิตไฟฟ้าใช้เองในครัวเรือน โดยการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา ในโครงการ “โซลารูฟท็อปภาคประชาชน” และนำเอาพลังงานที่เหลือใช้มาขายได้ในอัตรารับซื้อ 2.20 บาท แต่ยังถือว่าระบบนี้ไม่ใช่ระบบ Net Metering แต่คือระบบ Bill Metering เพราะไม่ได้หักลบค่าไฟฟ้ากับหน่วยไฟฟ้านั่นเอง

ข้อดีของ Net Metering

ข้อดีของ Net Metering

Net Metering เป็นระบบที่ช่วยสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน และยังเป็นระบบที่หลายๆ ประเทศได้มีการนำมาใช้ เพื่อผลประโยชน์ที่ดีต่อโลกและประชาชน ซึ่งข้อดีของ Net Metering มีดังนี้

ช่วยลดค่าไฟฟ้า

สำหรับการใช้ Net Metering นั้น จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก ระบบ Net Metering ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแลกเครดิตพลังงานไฟฟ้าเหลือใช้ที่ผลิตได้เองให้กับภาครัฐ ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนแต่ละเดือนได้อย่างมาก

ช่วยสร้างรายได้ 

ระบบ Net Metering ไม่สามารถช่วยสร้างรายได้ให้คุณได้ แต่ช่วยเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ และเหลือจากการใช้งานเป็นเครดิต นำไปหักกลบลบกับหน่วยไฟฟ้าที่ดึงจากกริดมาใช้ เพื่อช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าของคุณได้มากเลยทีเดียว

สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน

เมื่อระบบหักลบกลบหน่วยอย่าง Net Metering ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากค่าไฟได้ ยิ่งทำให้ผู้คนหันมาสนใจระบบนี้กันมากขึ้น เพราะยังสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดอย่าง แสงอาทิตย์ หรือลม เข้ามาใช้ผลิตไฟฟ้าได้เองในภาคครัวเรือน รวมถึงภาคอุตสาหกรรม ลดการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงอย่างฟอสซิลที่ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อม

ช่วยลดมลพิษ

ในการผลิตไฟฟ้านั้นต้องใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานฟอสซิลซึ่งเป็นสารอินทรีย์ใต้พื้นโลก ที่เกิดจากการทับถมกันของซากพืช ซากสัตว์จำนวนมากบวกกับความร้อนใต้ผืนโลก กลายเป็นแหล่งสะสมของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) เมื่อฟอสซิลเกิดการเผาไหม้ในกระบวนการต่างๆ จะส่งผลให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่งให้เกิดโลกร้อนและมลพิษในอากาศนั่นเอง

ข้อเสียของ Net Metering

ข้อเสียของ Net Metering

ถึงแม้ว่าระบบ Net Metering จะมีข้อดีอยู่มากมาย แต่ทว่าก็ยังมีข้อเสีย และข้อจำกัดอยู่ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

กระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้า

ในประเทศไทยการนำ Net Metering เข้ามาใช้ถือว่ายังมีข้อจำกัดในเรื่องผลกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้าอยู่ เนื่องจากต้องมีการชดเชยต้นทุนสำหรับการลงทุนให้กับการไฟฟ้าในการขายปลีกไฟฟ้า เพราะการไฟฟ้าจะต้องลงทุนไปกับระบบสายส่งที่ส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างครอบคลุม รวมถึงพื้นที่ห่างไกล โดยให้สามารถใช้ไฟฟ้าในอัตราเดียวกันทั้งประเทศได้ด้วย

ไฟฟ้าไม่คงที่

การใช้พลังงานไฟฟ้าจากการผลิตด้วยแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านอาจมีข้อจำกัดในเรื่องของสภาพอากาศ เนื่องจากการผลิตพลังงานในรูปแบบนี้ ต้องพึ่งพาพลังงานจากแสงแดด หากวันไหนที่ฝนตก อากาศมืดครึ้ม หรือเวลากลางคืน ก็จะทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานสามารถดึงเอาพลังงานจากกริดมาใช้ในระหว่างที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง

บางพื้นที่ไม่สามารถทำได้

Net Metering ไม่สามามารถทำได้ในทุกพื้นที่ อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่า Net Metering จะต้องมีการเชื่อมต่อกับกริดเนื่องจากต้องมีการส่งไฟฟ้าไปยังกริด รวมถึงการดึงมาใช้ในกรณีที่จำเป็นด้วย ทำให้ต้องมีการลงทุนทำสายส่งให้บริการกับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และยังต้องมีการปรับใช้มิเตอร์ที่รองรับ Net Metering อีกด้วย ทำให้ในหลายๆ ประเทศก็ยังไม่รองรับระบบนี้ รวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

สรุป

Net Metering ก็คือ ระบบที่สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าฟ้าใช้เอง ผลิตได้เท่าไร ใช้ไปมากเพียงใด และเหลือไฟฟ้าจากการใช้แค่ไหน ก็สามารถนำไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้งานไปขายเพื่อแลกเครดิต นำมาหักกลบลบหน่วย เพื่อลดภาระค่าไฟได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ว่า หากจะใช้ Net Metering  เราจะต้องมั่นใจว่าพื้นที่ของเรานั้นรองรับระบบนี้ด้วย แต่น่าเสียดาย สำหรับในไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของต้นทุน การกระทบกับรายได้ของการไฟฟ้า จึงทำให้ระบบนี้ยังไม่พร้อมใช้งาน

Sorarus- May Article 4 (อายุการใช้งาน แผงโซล่าเซลล์) cover-01

แผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งานกี่ปี? ถ้าหมดอายุแล้วต้องจัดการอย่างไร

แผงโซลาร์เซลล์ คือ อุปกรณ์ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรงได้อย่างไม่จำกัด มีอายุการใช้งานยาวนาน เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมโรงงาน และครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์สามารถลดลงตามอายุการใช้งานได้ บทความนี้จะมาบอกว่าแผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งานกี่ปี มีวิธีดูแลรักษาแผงโซลาร์เซลล์อย่างไรบ้าง และต้องจัดการอย่างไรกับแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ

แผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งานนานแค่ไหน

แผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งานนานแค่ไหน

โดยปกติแล้ว แผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งานประมาณ 25-30 ปี อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพการใช้งานสูงสุดของแผงโซลาร์เซลล์อยู่ในช่วงประมาณ 1-10 ปีแรกหลังการติดตั้ง หลังจากนั้นประสิทธิภาพจะค่อยๆ เสื่อมลง โดยแผงโซลาร์เซลล์สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาได้ปกติ แต่เป็นการผลิตในปริมาณที่น้อยลง นอกจากนี้ อายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ยังขึ้นอยู่กับคุณภาพ การติดตั้ง และการบำรุงรักษาอีกด้วย

แผงโซลาร์เซลล์เสื่อมสภาพเมื่อพ้นอายุการใช้งานหรือไม่

แผงโซลาร์เซลล์เสื่อมสภาพเมื่อพ้นอายุการใช้งานหรือไม่

โดยปกติแล้วแผงโซลาร์เซลล์จะเสื่อมประสิทธิภาพลงประมาณ 0.5-3% ในทุกๆ ปี และเมื่อเวลาผ่านไปหลังจาก 25-30 ปี แผงโซลาร์เซลล์จึงสูญเสียกำลังผลิตไฟฟ้าประมาณ 12-15% โดยลดลงเป็นขั้นบันได แต่ยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อยู่ในปริมาณที่น้อยลง ซึ่งผู้ผลิตส่วนใหญ่มักรับประกันอายุการใช้งานแผงโซลาร์เซลล์เพียง 25 ปี นอกจากนี้ ควรตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ เช่น สายไฟ เบรกเกอร์ อินเวอร์เตอร์ว่ายังสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบการชำรุดเสียหาย หรือรอยขีดข่วนบนแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อให้มั่นใจว่าแผงโซลาร์เซลล์สามารถผลิตพลังงานได้ตามปกติ

ปัจจัยที่ส่งผลต่ออายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์

ปัจจัยที่ส่งผลต่ออายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์

แม้ประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์อาจมีการลดลงตามอายุการใช้งาน แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่ออายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์หลายประการ ทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก ดังนี้

คุณภาพของแผงโซลาร์เซลล์

คุณภาพของแผงโซลาร์เซลล์มีส่วนสำคัญที่ส่งผลต่ออายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น และชะลอการเสื่อมสภาพจากการใช้งาน โดยสามารถสังเกตได้จากประเภท และการรับประกันจากโรงงานผลิต ยิ่งมีระยะประกันที่ยาวนาน ก็ยิ่งเป็นการบ่งบอกว่าโรงงานผลิตมั่นใจในคุณภาพ และการใช้งานได้ยาวนานของสินค้า

การติดตั้งที่ถูกต้อง

การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์อย่างถูกวิธีในบริเวณที่เหมาะสม มีส่วนช่วยให้แผงโซลาร์เซลล์ใช้งานได้ยาวนาน หากติดตั้งไม่ถูกวิธี หรือไม่เหมาะสม อายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์อาจเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ดังนั้น การเลือกบริษัทจำหน่าย และติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่มีคุณภาพ พร้อมมีบริการซ่อมบำรุงรักษา จะช่วยให้สามารถดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้อย่างถูกต้อง และยังตรวจสอบข้อขัดข้องก่อนจะเกิดปัญหาตามมาในภายหลังได้

การบำรุงรักษาอย่างถูกวิธี

การบำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์อย่างถูกวิธีจะส่งผลต่ออายุการใช้งาน สิ่งแวดล้อม และประหยัดค่าใช้จ่ายจากค่าซ่อมบำรุงรักษา หากอยากให้แผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น การดูแลรักษา เช่น การป้องกันไม่ให้มีเศษขยะ กิ่งไม้ หรือใบไม้สะสมบนแผงโซลาร์เซลล์จนไปขัดขวางการรับพลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือรอยขีดข่วนที่อาจทำให้แผงโซลาร์เซลล์แตกหัก ดังนั้น ควรหมั่นทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์เป็นประจำ และควรติดตั้งตะแกรงกันสิ่งแปลกปลอมที่อาจส่งผลกระทบต่อแผงโซลาร์เซลล์

ปัจจัยภายนอกอื่นๆ

ปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยธรรมชาติที่คาดเดาไม่ได้ อาจส่งผลต่ออายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์จนทำให้สูญเสียคุณภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ รวมถึงสภาพอากาศ และอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น  พายุฝนฟ้าคะนอง อากาศร้อน ความเข้มข้นของรังสียูวีสูง ความชื้นในอากาศสูงเป็นเวลานาน

การจัดการแผงโซลาร์เซลล์

การจัดการแผงโซลาร์เซลล์

เมื่อแผงโซลาร์เซลล์หมดอายุจะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องมีการนำไปรีไซเคิล หรือกำจัดทิ้งให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และลดปริมาณการฝังกลบของเสีย ซึ่งการจัดการแผงโซลาร์เซลล์จะอยู่ในความรับผิดชอบบริษัทผู้ผลิต เพื่อให้วัสดุถูกแยกภายใต้กระบวนการที่เหมาะสม

วิธีการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์

การรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์จำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ แผงโซลาร์เซลล์ซิลิกอน และแผงโซลาร์เซลล์แบบฟิล์มบาง โดยแผงโซลาร์เซลล์ทั้งสองประเภท มีวิธีการรีไซเคิลที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • แผงโซลาร์เซลล์แบบซิลิกอน สามารถรีไซเคิลได้โดยการแยกส่วนที่เป็นแก้ว และอะลูมิเนียมออกเป็นวัสดุที่นำเอากลับมาใช้ใหม่ได้ (Reuse) จากนั้นนำส่วนที่เหลือไปผ่านความร้อน 500 องศาเซลเซียส จนระเหยนำไปเป็นพลังงานความร้อน หรือทำการหลอมละลายแผ่นเวเฟอร์ (Wafer) เพื่อนำไปผลิตเป็นแผงโซลาร์เซลล์ใหม่
  • แผงโซลาร์เซลล์แบบฟิล์มบาง สามารถรีไซเคิลได้โดยการตัดออกเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อนำสารเคลือบออก จากนั้นแยกส่วนที่เป็นของแข็ง และของเหลว จากนั้นใช้กรดเพื่อนำฟิล์มออกมาเป็นแก้ว แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์

ส่วนใหญ่ผู้ผลิตจะรวมค่าธรรมเนียมในการรีไซเคิลกับราคาของแผงโซลาร์เซลล์แล้ว ซึ่งต้นทุนจริงของการกำจัดแผงพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นอยู่น้ำหนักของเสีย 1.5 PLN/กก. สุทธิ รวมค่าขนส่ง โดยหากคำนวนต้นทุนของการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ระดับครัวเดือนจะตกอยู่ราว 300–850 PLN สุทธิ

การบำรุงรักษาเพื่อยืดอายุการใช้งานแผงโซลาร์เซลล์

การบำรุงรักษาเพื่อยืดอายุการใช้งานแผงโซลาร์เซลล์

เช่นเดียวกันกับอุปกรณ์อื่นๆ ภายในบ้าน แผงโซลาร์เซลล์ต้องการการบำรุงรักษา และทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น และคงประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานเมื่อเวลาผ่านไป โดยวิธีในการดูแลรักษาให้แผงโซลาร์เซลล์คงทน มีดังนี้

เลือกแผงโซลาร์เซลล์ และทีมงานติดตั้งที่มีคุณภาพ

การเลือกแผงโซลาร์เซลล์ที่มีคุณภาพ การรับประกันจากบริษัทผู้ผลิตที่ไว้วางใจได้ มีบริการหลังการขาย มีทีมงานติดตั้งที่ชำนาญเพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ให้สามารถทำงานได้อย่างปกติ และเสื่อมประสิทธิภาพได้ช้าลงจากปัจจัยภายใน และภายนอก

ตรวจสอบ และบำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์อย่างสม่ำเสมอ

การบำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์ เช่น การทำความสะอาดลดฝุ่น หรือคราบสกปรกที่เกาะบนแผงโซลาร์เซลล์ ช่วยป้องกันไม่ให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าลดลงได้ ดังนั้น จึงควรหมั่นตรวจสอบสภาพ และการทำงานของอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานแผงโซลาร์เซลล์ให้ยาวนานขึ้น

ป้องกันแผงโซลาร์เซลล์จากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

การป้องกันแผงโซลาร์เซลล์จากปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอกที่อาจเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยวางแผนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในบริเวณที่ปลอดภัย และการเชื่อมต่อหลายๆ แผงเข้าด้วยกันจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเสียหาย แตกหัก หรือสาเหตุอื่นๆ ทำให้แผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้นานมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในระหว่างการบำรุงรักษา อีกทั้งยังปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สิน

เมื่อไหร่ที่ควรวางแผนการเปลี่ยนแผงโซลาร์เซลล์

เมื่อไหร่ที่ควรวางแผนการเปลี่ยนแผงโซลาร์เซลล์

สัญญาณแรกที่บ่งบอกว่าควรวางแผนเปลี่ยนแผงโซลาร์เซลล์ คือ ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงจนทำให้ไม่สามารถจ่ายพลังงานได้เท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเปลี่ยนไปตามระยะเวลาการใช้งาน โดยสามารถตรวจสอบได้จากเครื่องวัด หรือแอปพลิเคชันว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้อยู่นั้นผลิตพลังงานเท่าไหร่ หากผลิตได้น้อยลง และต้องจ่ายค่าไฟในราคาที่สูงขึ้น ก็เป็นสัญญาณว่าถึงเวลาที่ควรจะเปลี่ยนแผงโซลาร์เซลล์ใหม่แล้ว

สรุป

แผงโซลาร์เซลล์มีอายุโดยเฉลี่ย 25-30 ปี โดยประสิทธิภาพจะค่อยๆ ลดลงตามระยะเวลา และหากแผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งานมาก หรือส่งสัญญาณการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง ควรนำไปรีไซเคิลกับบริษัทผู้ผลิตตามกฎหมาย หากใครมีแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้มานานแล้วอยากตรวจสภาพ ซ่อมแซม หรือบำรุงรักษา สามารถใช้บริการกับทาง Sorarus ได้ ทีมงานผู้เชี่ยวชาญของเรามีประสบการณ์เฉพาะด้านในการให้บริการซ่อมบำรุง และดูแลระบบโซลาร์เซลล์ให้ปลอดภัย ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ คงระยะเวลาการใช้งานยาวนานมากขึ้น

Sorarus - May Article 2 (carbon neutral กับ net zero )-Cover-01

ทำความรู้จัก Carbon neutral กับ Net zero คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร

ด้วยปัญหาทางภูมิอากาศในปัจจุบัน ทั้งอากาศแปรปรวน ฝุ่นควัน มลพิษ หรือมีสภาพอากาศรุนแรงบ่อยครั้ง อันเกิดจากภาวะโลกร้อน ทำให้หลายๆ บริษัท ไม่ว่าจะเป็น Start-up หรือบริษัทใหญ่ ก็หันมาให้ความสนใจในเทรนด์ Carbon neutral กับ Net zero กันมากขึ้น ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มีจุดประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนยังมีข้อสงสัยว่า Carbon neutral กับ Net zero แตกต่างกันอย่างไร แม้ทั้งสองจะมีจุดประสงค์เดียวกัน แต่มีวิธีที่แตกต่างกัน บทความนี้จะพามาทำความเข้าใจกับทั้งสองคำนี้ว่าคืออะไร มีข้อแตกต่าง และวิธีการอย่างไรบ้าง

ทำความรู้จัก Carbon neutral คืออะไร

ทำความรู้จัก Carbon neutral คืออะไร

Carbon neutral หรือ Carbon neutrality คือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน หมายถึง ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับมาโดยผ่านป่า ผืนดิน มหาสมุทร หรือด้วยวิธีการต่าง ๆ 

ทำไมต้องเป็น Carbon neutral

ทำไมต้องเป็น Carbon neutral

อย่างที่ทราบกันดีว่าคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นการที่ธุรกิจต่างๆ หันมาทำ Carbon neutral จะช่วยชะลอการเกิดภาวะโลกร้อนได้ นอกจากนั้น เป้าหมายของการเป็น Carbon neutral คือการลดและชดเชยการปล่อยคาร์บอนจนเป็นกลาง เพื่อไม่ให้คาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจนส่งผลอันตรายต่อโลก ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายๆ รายจึงหันมาทำ Carbon neutral กันมากขึ้น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนและลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น 

    • Apple ได้ประกาศเป็น Carbon neutrality อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2030 พร้อมมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซลง 75% และลงทุนในแหล่งพลังงานสะอาดเพื่อชดเชยส่วนที่เหลืออีก 25% 
    • Starbucks วางแผนเป็น Carbon neutrality ภายในปี 2025 โดยขั้นตอนแรกคือลดการปล่อยก๊าซโดยการลดของเสียและใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และชดเชยโดยการลงทุนในกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ (Forest Carbon Partnership Facility: FCPF)

 

ทำความรู้จัก Net zero คืออะไร

ทำความรู้จัก Net zero คืออะไร

Net zero emissions คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หมายถึง การทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับกลับมามีค่าเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาก่อนหน้า ทำให้เกิดภาวะสมดุล และไม่มีก๊าซเรือนกระจกส่วนเกินที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนหรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้

ทำไมต้องเป็น Net zero

ทำไมต้องเป็น Net zero

เป้าหมายของการเป็น Net zero คือ การลดและกำจัดก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว จะเป็นการหยุดเพิ่มภาระให้กับชั้นบรรยากาศโลก Net zero จึงมีความสำคัญในแง่ที่สามารถทำให้โลกเข้าสู่ภาวะสมดุล หากบริษัทต่างๆ หรือประเทศในโลกสามารถสำเร็จเป้าหมาย Net zero ได้ ก็จะสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และหยุดการเกิดภาวะโลกร้อนได้ บริษัทยักษ์ใหญ่ที่หันมาทำ Net zero เช่น

    • Amazon มุ่งมั่นที่จะเป็น Net zero ภายในปี 2040 โดยการกำจัดการปล่อยมลพิษจากการดำเนินงาน การขนส่ง และการปล่อยมลพิษที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าที่บริษัทซื้อมาเพื่อใช้งาน นอกจากนั้นยังประกาศว่าจะลงทุนในโครงการปลูกป่าทั่วโลกอีกด้วย
    • FedEx วางแผนก้าวไปสู่การเป็น Net zero ภายในปี 2040 โดยขั้นตอนแรกคือลดการปล่อยก๊าซลง 30% ภายในปี 2025 และชดเชยการปล่อยก๊าซที่เหลืออยู่ด้วยคาร์บอนเครดิต

Carbon neutral กับ Net zero ต่างกันยังไง

Carbon neutral กับ Net zero ต่างกันยังไง

Carbon neutral กับ Net zero มีความคล้ายคลึงกันตรงที่เป็นการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน แต่เป้าหมายและวิธีการของทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกัน 

 

โดย Carbon neutral ใช้วิธีการลดการปล่อยคาร์บอน และชดเชยการปล่อยคาร์บอนด้วยวิธีการต่างๆ แต่ Net zero เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และใช้วิธีกำจัดก๊าซเรือนกระจกส่วนเกิน Net zero จึงเป็นการดำเนินงานที่กว้างและทำได้หลากหลายกว่า Carbon neutral เพราะก๊าซเรือนกระจกนั้นไม่ได้มีแค่คาร์บอน แต่รวมไปถึงก๊าซทุกตัวที่ส่งผลต่ออุณหภูมิของโลกด้วย 

 

นอกจากนั้น Net zero จะต้องดูดซับก๊าซเรือนกระจกบนชั้นบรรยากาศในระยะยาว และต้องควบคุมไม่ให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ต้นจนจบห่วงโซ่การผลิตอีกด้วย ทำให้ Net zero มีความท้าทายมากกว่า Carbon neutral และมักจะเป็นเป้าหมายในระดับประเทศมากกว่า 

ทำไมต้องมี Carbon neutral กับ Net zero

ทำไมต้องมี Carbon neutral กับ Net zero

อย่างที่กล่าวไปว่า Carbon neutral กับ Net zero มีจุดประสงค์เดียวกัน คือ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน เป็นการเยียวยาให้โลกกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นจากการประชุมระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อันส่งผลเลวร้ายต่อโลก และเกิดเป็นข้อตกลงการเยียวยาภาวะโลกร้อนที่สำคัญ ดังนี้

Kyoto Protocol

พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เกิดขึ้นจากการประชุม COP ครั้งที่ 3  ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ในปี 1997 โดยสาระสำคัญของพิธีสารเกียวโต คือ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้อยู่ในระดับต่ำกว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 1990 โดยแต่ละประเทศจะต้องส่งข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปี 1990 ให้ทางสหประชาชาติ เพื่อแสดงและเปรียบเทียบให้เห็นการปล่อยก๊าซที่ลดลงในประเทศตัวเอง 

ทั้งนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก ไม่ได้เข้าร่วมในพิธีสารนี้ ทำให้พิธีสารเกียวโตนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเต็มที่ และต่อมาจึงมีความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่เป็นส่วนขยายเพิ่มเติมจากพิธีสารเกียวโต

Paris Agreement

ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เกิดขึ้นจากการประชุม COP ครั้งที่ 21 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2015 เป็นส่วนขยายเพิ่มเติมจากพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในปี 1997 โดยสาระสำคัญของความตกลงปารีส คือ จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2°C เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และก้าวไปสู่เป้าหมายการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5°C ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าร่วมในความตกลงปารีส โดยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี 2030

จุดมุ่งหมาย 1.5°C

1.5°C คือตัวเลขอุณหภูมิโลกที่ต้องควบคุมไว้ไม่ให้เกินไปจากนี้ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์จากหลายประเทศได้คาดการณ์ว่าโลกจะร้อนขึ้นถึง 1.5°C ภายในสองทศวรรษข้างหน้า ถึงแม้ว่าประเทศต่างๆ จะลดการปล่อยก๊าซลงอย่างมากในทันทีก็ตาม หากโลกเข้าสู่อุณหภูมิ 1.5°C จะเกิดผลกระทบร้ายแรงต่อโลก เช่น อากาศร้อนมากขึ้น เกิดภัยแล้งและน้ำท่วม น้ำแข็งอาร์กติกละลาย รวมถึงเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุของสัตว์หลายๆ ชนิดอีกด้วย ทำให้จุดมุ่งหมาย 1.5°C เป็นสิ่งที่เตือนให้ทุกประเทศทั่วโลกตระหนักถึงภาวะโลกร้อน และต้องมีการดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด

ทำไมต้องลดคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจก

ทำไมต้องลดคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจก

ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas) เป็นก๊าซที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ มีความสามารถในการกักเก็บความร้อนจากแสงแดดที่ส่องเข้ามายังโลก โดยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญมีหลายชนิด เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon dioxide, CO2) ก๊าซมีเทน (methane, CH4) ก๊าซไนโตรัสออกไซด์ (nitrous oxide, N2O) และก๊าซฟลูออร์ไรด์ (fluorinated gas) ซึ่งหากมีก๊าซชนิดใดมากเกินไป จะส่งผลให้ชั้นบรรยากาศเสียสมดุล และก่อให้เกิดผลกระทบต่อโลก ดังนี้

    • พลังงานรังสีความร้อนสะสมบนผิวโลกและชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น
    • ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ ทำให้รังสีอันตรายสามารถส่งลงมายังพื้นโลกได้มากขึ้น
    • เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศของโลก เช่น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น อากาศร้อน ฯลฯ

ด้วยผลกระทบเหล่านี้จะทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้ผู้คนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งเสี่ยงต่อภัยน้ำท่วมมากขึ้น เป็นต้น หากไม่เร่งแก้ไขก็จะไม่สามารถควบคุมภาวะโลกร้อนได้ ฉะนั้น การลดคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกด้วยการทำ Carbon neutral กับ Net zero จะส่งผลดีต่อโลกและต่อบริษัทที่ทำได้ดังนี้

    • ประหยัดต้นทุนในการดำเนินงาน เนื่องจากต้องลดการปล่อยคาร์บอน ทำให้ลดการทำงานที่ไม่จำเป็นออกไป และใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพแทน
    • สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัทได้ เนื่องจากปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม บริษัทที่ทำ Carbon neutral กับ Net zero จึงให้ภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
    • ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ เนื่องจากต้องค้นหาและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด จึงสร้างโอกาสในการพัฒนาบริษัทให้มีนวัตกรรมใหม่ได้

เราจะช่วยลดคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร

เราจะช่วยลดคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร

เพื่อไม่ให้โลกต้องรับผลกระทบที่รุนแรงจากภาวะโลกร้อน จึงต้องลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกบรรลุเป้าหมายการทำ Carbon neutral กับ Net zero ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน โดยเราทุกคนสามารถลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกได้ ดังนี้

    • บริโภคอย่างพอดี สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์นั้นคาดการณ์ว่าสูงถึง 51% ซึ่งมีต้นเหตุมาจากกระบวนการผลิตเนื้อที่ปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก รวมไปถึงการทำการเกษตรเพื่อนำมาเป็นอาหารสัตว์ยังทำลายพื้นที่ป่าไม้ที่ช่วยดูดซับคาร์บอน ดังนั้นการบริโภคอย่างพอดีจะสามารถช่วยลดกระบวนการผลิต ลดการทำลายป่า และลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศได้ 
    • ลดการสร้างขยะ และนำขยะมารีไซเคิล กองขยะที่ทับถมกันเป็นจำนวนมาก จะสร้างก๊าซมีเทนที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และเพื่อเป็นการลดขยะให้น้อยลง ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้ เป็นการลดขยะประเภทใช้แล้วทิ้ง อีกทั้งการแยกขยะก่อนทิ้งจะช่วยลดกระบวนการแยกขยะ และนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายยิ่งขึ้น
    • ประหยัดพลังงานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งพลังงานไฟฟ้า พลังงานเชื้อเพลิง ต่างก็เป็นพลังงานสำคัญที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งพลังงานเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการเผาไหม้และก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก หากสามารถลดการใช้พลังงานและใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ โดยสามารถเริ่มต้นง่ายๆ ได้หลายวิธี เช่น ปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน, ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีสัญลักษณ์เบอร์ 5, ใช้พาหนะที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ฯลฯ
    • รักษาและเพิ่มพื้นที่ป่า รักษาป่าที่ยังคงเหลืออยู่ พร้อมกับฟื้นฟูและทดแทนป่าที่เสียไปโดยการปลูกป่าเพิ่มเติม เพื่อให้มีป่าที่สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจก และลดปริมาณการปล่อยก๊าซสู่ชั้นบรรยากาศ
    • เลือกใช้พลังงานทดแทน ใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ทดแทนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนั้นพลังงานทดแทนยังเป็นพลังงานที่ใช้แล้วไม่หมดไป จึงสร้างความยั่งยืนให้กับโลกและประเทศที่ใช้พลังงานทดแทนด้วย การเลือกใช้พลังงานทดแทนจากดวงอาทิตย์สามารถทำได้โดยหันมาใช้โซลาร์เซลล์ นอกจากจะช่วยลดคาร์บอนแล้วยังช่วยลดค่าไฟได้อีกด้วย หากสนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์หรือมีคำถาม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้กับทาง Sorarus ได้เลย

สรุป

Carbon neutral กับ Net zero มีความสำคัญต่อโลกอย่างมาก เพราะมีส่วนช่วยในการลดก๊าซเรือนกระจกอันเป็นต้นเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ โดยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับไปจากการทำ Carbon neutral กับ Net zero นั้น จะปรับสมดุลให้ชั้นบรรยากาศโลกและยับยั้งการเกิดภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อโลกได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทุกคนควรหันมาใส่ใจในเรื่องนี้ ทั้งภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม ไปจนถึงภาคระดับประเทศ หากปล่อยให้โลกเผชิญกับภาวะโลกร้อนและไม่รีบแก้ไข อาจเกินการควบคุมและสายเกินไปที่จะเยียวยาโลกแล้ว

Sorarus-May 1-01 cover

11 เคล็ดไม่ลับ วิธีประหยัดไฟฟ้าเห็นผล ลดค่าใช้จ่าย สบายกระเป๋าตังค์

ด้วยสภาพอากาศของเมืองไทยที่ร้อนจัด อีกทั้งปัญหาสภาพอากาศในปัจจุบัน ทั้งปัญหาฝุ่นละออง และปัญหามลพิษทางอากาศ ทำให้คนเราต้องหาวิธีคลายร้อนด้วยการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เยอะขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดแอร์ เครื่องฟอกอากาศ หรือพัดลม สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ค่าไฟสูงขึ้นทั้งนั้น ในบทความนี้ทาง Sorarus จะมาแชร์เคล็ดไม่ลับ 11 วิธีประหยัดไฟฟ้าอย่างเห็นผลกัน! 

คำนวณค่าไฟด้วยตนเอง เพื่อวางแผนการใช้ไฟฟ้า

1. คำนวณค่าไฟด้วยตนเอง เพื่อวางแผนการใช้ไฟฟ้า

วิธีประหยัดไฟฟ้าวิธีที่ 1 ลองคำนวณค่าไฟด้วยตนเอง เพื่อวางแผนประหยัดค่าไฟ โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละตัว มีกำลังไฟฟ้าหรือที่เรียกว่า ‘จำนวนวัตต์’ ที่แตกต่างกันออกไป โดยให้ใช้สูตรการคำนวณ ดังนี้

กำลังไฟฟ้า (วัตต์) x จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้า ÷ 1000 x จำนวนชั่วโมงที่ใช้ใน 1 วัน = จำนวนหน่วยต่อวัน (ยูนิต)

ยกตัวอย่างการคำนวณ ดังนี้

    • หลอดไฟขนาด 50 วัตต์ จำนวน 4 ดวง เปิดใช้งานวันละ 8 ชั่วโมง =  50 x 4 ÷  1000 x 8 = 1.6 ยูนิตต่อวัน (เดือนละ 48 หน่วย)
    • ตู้เย็นขนาด 125 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง เปิดใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง = 125 x 1 ÷  1000 x 24 = 3 ยูนิตต่อวัน (เดือนละ 90 หน่วย)
    • แอร์ขนาด 1,200 วัตต์ จำนวน 3 เครื่อง เปิดใช้งาน 10 ชั่วโมง = 1,200 x 3 ÷  1000 x 10 = 36 ยูนิตต่อวัน (เดือนละ 1,080 หน่วย)

รวมทั้งสิ้นเดือนละ 1,218 หน่วย

นำหน่วยที่ได้มาเทียบกับอัตราค่าบริการตามค่าพลังงานไฟฟ้า 

    • 35 หน่วยแรก หน่วยละ 3.2405 = 35 x 3.2405 = 113.5 บาท
    • 115 หน่วยถัดไป หน่วยละ 3.7171 = 115 x 3.7171 = 427.5 บาท
    • 250 หน่วยถัดไป หน่วยละ 4.2218 = 250 x 4.2218 = 1,055.5 บาท
    • เกินกว่า 400 หน่วย หน่วยละ 4.4217 = (1,080 – 400 หน่วย = 680 หน่วย) นำ 680 x 4.4217 = 3,007 บาท

ค่าไฟต่อเดือนจะอยู่ที่ 4,603.5 บาท โดยราคานี้ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าใช้จ่ายส่วนต่างที่การไฟฟ้าเรียกเก็บ สำหรับใครที่อยากประมาณค่าไฟของทางการไฟฟ้าผ่านระบบคำนวณ สามารถเข้าไปใช้ระบบคำนวณค่าไฟของการไฟฟ้านครหลวง และระบบคำนวณค่าไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เลย

ลดการใช้แอร์

2. ลดการใช้แอร์

วิธีประหยัดไฟฟ้าวิธีที่ 2 ลดการใช้แอร์ แน่นอนว่าเครื่องปรับอากาศเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในชีวิตประจำวัน การลดใช้แอร์ แล้วหันมาใช้พัดลม หรือเปิดหน้าต่างรับลม ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการประหยัดค่าไฟฟ้า หากเริ่มทำแรกๆ อาจจะยังไม่ชิน แนะนำให้ลองปรับระยะเวลาการใช้งานในแต่ละวันดูก่อน เช่น จากเดิมเปิดแอร์ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการหันมาเปิดแอร์ 12 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น ก็จะประหยัดค่าไฟได้หลายบาทเลยทีเดียว หรืออีกวิธีที่ช่วยลดการใช้แอร์ได้คือการเปิดแอร์อุณหภูมิไม่ต่ำมากพร้อมกับเปิดพัดลม จะช่วยให้แอร์ไม่ต้องทำงานหนัก และสามารถลดค่าไฟได้อีกด้วย

จัดตู้เย็นเป็นระเบียบ

3. จัดตู้เย็นเป็นระเบียบ

วิธีประหยัดไฟฟ้าวิธีที่ 3 การจัดระเบียบตู้เย็น เป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยประหยัดค่าไฟได้ หากตู้เย็นของคุณเต็มไปด้วยสิ่งของต่างๆ ทั้งที่แกะแล้วหรือยังไม่แกะ จะทำให้ตู้เย็นทำงานหนักขึ้นหลายเท่า อีกทั้งยังมีเชื้อแบคทีเรียสะสมในตู้เย็นด้วย การจัดระเบียบตู้เย็นให้เรียบร้อย วางสิ่งของให้เป็นระเบียบ ก็จะช่วยให้ตู้เย็นกินไฟน้อยลงได้นั่นเอง

วางแผนซักรีดให้ดี

4. วางแผนซักรีดให้ดี

วิธีประหยัดไฟฟ้าวิธีที่ 4 วางแผนการซักรีดให้ดี อีกหนึ่งปัญหาที่เพิ่มค่าไฟภายในบ้านอยู่ตลอด เพราะต้องใช้ทั้งเครื่องซักผ้า เตารีด หรือบางบ้านอาจมีเครื่องอบผ้าอีก การซักผ้าบ่อยๆ จะทำให้ค่าไฟเพิ่มมากขึ้น และยังเปลืองน้ำอีกด้วย การจัดตารางซักรีดให้ดี ซักผ้าทีละเยอะๆ และไม่ซักบ่อยๆ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีลดค่าไฟฟ้าในบ้านได้ดีอีกด้วย ดังนั้นจึงควรวางแผนว่าปริมาณเสื้อผ้ามีมากน้อยขนาดไหน สามารถรวมซักครั้งเดียวสัปดาห์ละ 1 ครั้งได้หรือไม่? หากมีเสื้อผ้าค่อนข้างเยอะจนซักแค่ครั้งเดียวต่อสัปดาห์ไม่ไหว แนะนำให้ลองซักทุกๆ 3 วันดูก่อน แล้วจึงปรับลดจำนวนวันที่จะซักผ้าตามความเหมาะสม

วางแผนซักรีดให้ดี

5. ถอดปลั๊กทุกครั้งที่ไม่ใช้งาน

วิธีประหยัดไฟฟ้าวิธีที่ 5 ถอดปลั๊กหลังใช้งานเสร็จทุกครั้ง บางคนอาจยังเข้าใจผิดอยู่ว่า การเสียบปลั๊กทิ้งไว้ ไม่ได้กินไฟแต่อย่างใด ซึ่งการเสียบปลั๊กทิ้งไว้ แต่ไม่ได้ใช้งาน เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะว่ากระแสไฟฟ้าอาจกำลังไหลวนอยู่ระหว่างเต้ารับกับสายไฟก็ได้ พฤติกรรมนี้นอกจากจะกินไฟแล้วยังเสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรอีกด้วย จึงควรถอดปลั๊กทุกครั้งหลังใช้งาน เพื่อให้บ้านมีระเบียบ ปลอดภัย และประหยัดค่าไฟมากขึ้น

ลดการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟ

6. ลดการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟ

วิธีประหยัดไฟฟ้าวิธีที่ 6 ลดการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าเช่น เครื่องซักผ้า หรือเครื่องอบผ้า เครื่องดูดฝุ่น หรือเครื่องปรับอากาศ เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟอันดับต้นๆ ในบ้าน หากเราสามารถลดการใช้งานพวกนี้ได้ก็จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดค่าไฟฟ้าในบ้านได้ด้วย ลองหันมาดูดฝุ่นสัปดาห์ละครั้ง รวมผ้ามาซักสัปดาห์ละครั้งถึงสองครั้ง หรือตั้งเวลาเปิดปิดแอร์ให้เหมาะสม เท่านี้ค่าไฟก็จะช่วยลดค่าไฟได้แล้ว

หมั่นทำความสะอาดเครื่องใช้ไฟฟ้า

7. หมั่นทำความสะอาดเครื่องใช้ไฟฟ้า

วิธีประหยัดไฟฟ้าวิธีที่ 7 ยิ่งทำความสะอาด ยิ่งประหยัด! เครื่องใช้ไฟฟ้ายิ่งมีฝุ่นเยอะเท่าไร การทำงานก็จะหนักขึ้นแล้วค่าไฟเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น จึงควรหันมาทำความสะอาดเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอเช่น ควรล้างแอร์ทุก 6 เดือน เพื่อนำเศษฝุ่นและสิ่งสกปรกออกมา เพื่อให้แอร์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมยังช่วยลดค่าไฟได้อีกด้วย 

ติดตั้งเซนเซอร์จับการเคลื่อนไหว

8. ติดตั้งเซนเซอร์จับการเคลื่อนไหว

วิธีประหยัดไฟฟ้าวิธีที่ 8 ติดเซนเซอร์จับการเคลื่อนไหวภายในบ้านช่วยประหยัดค่าไฟ โดยเฉพาะกับผู้ที่มีอาการหลงๆ ลืมๆ อาจลืมปิดไฟก่อนออกจากบ้าน เซนเซอร์จับการเคลื่อนไหวจะทำการปิดไฟ และปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นให้แบบอัตโนมัตินั่นเอง

เลือกใช้หลอดไฟ LED

9. เลือกใช้หลอดไฟ LED

วิธีประหยัดไฟฟ้าวิธีที่ 9 เลือกใช้หลอดไฟ LED โดยเฉลี่ยแล้วการเลือกใช้หลอดไฟ LED ช่วยประหยัดค่าไฟไปได้ถึง 50-80% เมื่อเทียบกับการใช้ไฟแบบปกติ นอกจากนี้หลอดไฟ LED ช่วยให้บ้านดูสว่างมากขึ้น แล้วยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานเฉลี่ย 50,000 ชั่วโมง หรือมากกว่า 5 ปี ดังนั้นยิ่งเปลี่ยนหลอดไฟภายในบ้านเป็นหลอดไฟ LED ได้มากเท่าไหร่ จะยิ่งประหยัดค่าไฟได้มากขึ้น นับว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีประหยัดค่าไฟที่คนส่วนใหญ่เริ่มเปลี่ยนเป็นอันดับแรก

เลือกใช้ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5

10. เลือกใช้ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5

วิธีประหยัดไฟฟ้าวิธีที่ 10 เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีสลากประหยัดไฟเบอร์ 5 หลายๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า ‘เวลาเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ให้เลือกใช้เครื่องที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5’ ซึ่งจริงๆ แล้วฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เป็นฉลากที่มีการระบุข้อมูลเบื้องต้น ทั้งยังมีการคำนวณค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อปี รวมถึงประสิทธิภาพของสินค้า ทำให้ผู้ใช้งานมั่นใจในคุณภาพสินค้าที่ได้รับมาตรฐานจากสลากเบอร์ 5 และสามารถคำนวณค่าไฟได้ง่ายขึ้นเพื่อวางแผนลดค่าไฟฟ้าอีกด้วย

ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

11. ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

วิธีประหยัดไฟฟ้าวิธีที่ 11 เลือกติดตั้งโซลาร์เซลล์ หรือระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นอีกหนึ่งวิธีประหยัดค่าไฟที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากโซลาร์เซลล์สามารถลดค่าไฟได้มากถึง 40-60% จากราคาค่าไฟปกติ ทำให้คนเริ่มหันมาใช้โซลาร์เซลล์กันมากขึ้น โดยโซลาร์เซลล์มีข้อดีหลักๆ ดังนี้

    • โซลาร์เซลล์เป็นระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้ได้แบบไม่มีวันหมด อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นเมืองร้อน ทำให้หมดกังวลว่าจะไม่มีแสงแดดในการผลิตไฟฟ้า
    • ช่วยทำให้บ้านเย็นขึ้น แผงโซลาร์เซลล์สามารถสะท้อนความร้อนออกไป ช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้านได้มากถึง 3-5 องศาเซลเซียส
    • โซลาร์เซลล์ติดตั้งได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ในปัจจุบันสามารถสั่งซื้อแผงโซลาร์เซลล์มาติดตามบ้านได้เลย โดยหลังจากการติดตั้งสามารถใช้งานได้ทันที ซึ่งทาง Sorarus เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะที่มีประสบการณ์มากกว่า 40 ปี ที่พร้อมดูแลตลอดทุกขั้นตอนตั้งแต่การติดตั้ง จนถึงบริการหลังการขาย หากสนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับทาง Sorarus ได้เลย

สรุป

จากที่ได้รู้เคล็ดไม่ลับทั้ง 11 วิธีประหยัดค่าไฟฟ้ากันไปครบแล้ว จะเห็นว่าการวางแผนการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้านั้นเป็นสิ่งสำคัญ หากเรารู้จักปรับลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น และสำหรับใครที่สนใจอยากติดโซลาร์เซลล์เพื่อลดค่าไฟ ไม่ว่าจะเป็นติดตั้งที่บ้าน หรือที่บริษัท สามารถติดต่อทาง Sorarus ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์คุณภาพ พร้อมให้คำแนะนำและช่วยเหลือตลอดการใช้งาน ให้คุณได้ประหยัดเงินในระยะยาว และได้ใช้ไฟอย่างเต็มที่

โฟร์โมสต์
betagen
minor-food-group
singha
centara-grand-hotels-resorts
BJC

สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัท อินโนเวทีฟ เอ็นเนอร์จี จำกัด